ประวัติชมรมศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล

             ศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล   หมายถึง  สามเณรที่ออกจากบ้านเณรตั้งแต่สมัยที่อยู่บ้านเณรบางนกแขวกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 

              การชุมนุมศิษย์เก่าครั้งแรก   เกิดขึ้นในวันที่  8  ธันวาคม  1974  ซึ่งตรงกับวันฉลองบ้านเณรเล็กราชบุรีในปีนั้น  โดยมีคุณพ่อสมบูรณ์       แสงประสิทธิ์ เป็นอธิการบ้านเณร      คุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเรี่ยวแรงสำคัญริเริ่มให้มีการชุมนุมศิษย์เก่าขึ้น  โดยได้ส่งบัตรเชิญไปยังศิษย์เท่าที่สามารถติดต่อได้  ปรากฏว่าในครั้งแรกนี้มีศิษย์เก่ามาร่วมชุมนุมประมาณ  79  ท่าน

               การชุมนุมครั้งนี้ทำกันในภาคบ่ายของวันฉลองบ้านเณร  ในที่ประชุมมีการแนะนำตัวศิษย์เก่าแต่ละคน  ซึ่งเรียกเสียงฮาได้ตลอดเวลา  พร้อมกันนี้ก็มีการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนสำหรับติดต่อและดำเนินงานของชมรมต่อไป  ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งแรกนี้ก็คือ
 1.  คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์
 2.  คุณสิริ  พีรพันธ์
 3.  คุณชลอ  วรรณประทีป
 4.  คุณภวุฒิ  ภูผา
 5.  คุณนิยม  ภูผา
 6.  คุณคำใส  บุญประสม
 7.  คุณวันชัย  วงศ์ประดู่
 8.  คุณนพดล  จรัสศรี
 9.  คุณสมหวัง  อ่องนาวา
 10.  คุณสนธิ  สาราธรรม
 11.  คุณสกนธ์  มโนมัธถ์
 12.  คุณประทีป  เจริญจิต
 13.  คุณไพบูลย์  ยงชัยหิรัญ

               การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของชมรมศิษย์เก่าฯ    เพราะสมาชิกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า  จะต้องจัดให้มีการชุมนุมเช่นนี้ในปีต่อ ๆ ไปอีก

               ปีต่อมา คุณพ่อสมบูรณ์    แสงประสิทธิ์ ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเพลง  และมีคุณพ่อสมกิจ  นันทวิสุทธิ์  มาเป็นอธิการแทน  ในปีนี้ก็มีการนัดชุมนุมศิษย์เก่าฯ ในวันฉลองบ้านเณรอีกเป็นปีที่  2  แต่ในปีนี้มีสมาชิกมาร่วมจำนวนน้อยเกินคาด  ในการชุมนุมครั้งนี้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่พร้อมทั้งอภิปรายถึงจุดหมายของการชุมนุมศิษย์เก่าฯ ให้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งการที่จะมาพบปะ    กินเลี้ยงสังสรรค์สนุกสนานกันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ     ควรมีการเน้นทางด้านจิตใจ  การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและการแพร่ธรรม ฯลฯ  ที่ประชุมจึงได้ตกลงถึงข้อปฏิบัติบางประการ ดังนี้
             1. จะทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน   เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสมาชิกให้มีความสัมพันธ์เป็นกลุ่ม ไม่แตกสลายไป
             2. หาหนทางช่วยเหลือเณรที่เรียนดี  ประพฤติดี  มีน้ำใจแต่ฐานะทางครอบครัวขัดสน
             3. ช่วยเหลือศิษย์เก่าด้วยกันที่มีฐานะตกต่ำ

               การชุมนุมศิษย์เก่าฯ ครั้งที่  3  ทำกันในวันที่  19  ธันวาคม  1976    ซึ่งครั้งในไม่ได้จัดตรงกับวันฉลองบ้านเณร เพราะส่วนมากมีความเห็นว่า  วันฉลองบ้านเณรนั้นไม่เหมาะ  มีภาระมากสำหรับทางบ้านเณร  จึงเลื่อนไปชุมนุมกันในวันอาทิตย์ถัดไปหลังจากฉลองบ้านเณร       การชุมนุมครั้งนี้ คุณพ่อสมกิจ      นันทวิสิทธิ์ อธิการสมัยนั้นเป็นประธานในการชุมนุม   มีการพิจารณาจุดมุ่งหมายของชมรมและระเบียบการของชมรมอีก  คุณชลอได้ร่างระเบียบของชมรมให้ที่ประชุมนำไปพิจารณาแก้ไข  ที่ประชุมตกลงให้มีการแก้ไขวันประชุมใหญ่เดือนเมษายนที่หัวหิน

               สมาชิกได้ร่วมกันพิจารณาหาวิธีการให้สมาชิกมาร่วมชุมนุมกันให้มาก ๆ จึงเสนอให้เป็นแบบฟื้นฟูจิตใจและไปสัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ ที่หัวหินสัก 2 วัน ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
มีการเลือกตั้งประธานชมรมคนใหม่  ซึ่งได้แก่ คุญบุญล้อม   หมั้นทรัพย์   ประธานคนใหม่ไปเลือกกรรมการผู้ร่วมงานเอง

              การชุมนุมครั้งที่  3  นี้ ที่ประชุมลงมติให้ช่วยกันสร้างพระแท่นถวายให้บ้านเณรเล็กราชบุรีเป็นที่ระลึกสำหรับชมรมศิษย์เก่าฯ ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นเงิน  15,000  บาท    ได้รับการบริจาคสมทบจากบรรดาศิษย์เก่าครบจำนวนเงินพอดี

             การชุมนุมศิษย์เก่าครั้งที่  4  เพื่อให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมในการชุมนุมครั้งที่  3  จึงจัดให้การชุมนุมครั้งที่  4  นี้เป็นการชุมนุมแบบฟื้นฟูจิตใจที่บ้านพักนักบวชซาเลเซียน หัวหิน ในวันที่  22-24  เมษายน  1977  ช่วงนี้คุณพ่อสุรพล      เนื้อจีน ย้ายมาเป็นอธิการบ้านเณร แทนคุณพ่อสมกิจ   นันทวิสุทธิ์ ซึ่งย้ายไปเป็นอธิการโรงเรียนดรุณาราชบุรี

             การชุมนุมครั้งนี้มีสมาชิกมาร่วมเป็นจำนวนน้อย  แต่ก็ได้รับความประทับใจอย่างลึกซึ้ง  ได้รับความรู้จากคณะวิทยากรที่มาแบ่งปัน  มีการพิจารณาระเบียบการของชมรมฯ อย่างกว้างขวางและตกลงให้พิมพ์รายชื่อพร้อมที่อยู่ของศิษย์เก่าให้ได้มากที่สุด  เพื่อสะดวกในการติดต่อและแจ้งข่าวสารต่อกัน  และนี่คือที่มาของหนังสือ   “ระเบียบการและทำเนียบชมรมศิษย์เก่าสามเณราลัยแม่พระนิรมล”  ซึ่งพิมพ์แจกไปเมื่อปลายปี  1977 (พ.ศ. 2520)

             คณะกรรมการชมรมฯ ได้มีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่  8  ตุลาคม  1977  เพื่อปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการร่วมจัดงานฉลองบ้านเณรในวันอาทิตย์ที่  11  ธันวาคม  1977  ที่ประชุมตกลงให้มีการขับร้องเพลงลาตินในระหว่างมิสซา  ศิษย์เก่าจะพยายามช่วยกันขับร้องด้วย  และจะมีการแข่งขันวอลเล่ย์บอลระหว่างทีมพระสงฆ์และทีมศิษย์เก่า      ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการชุมนุมครั้งต่อไปด้วย  ซึ่งตกลงให้มีการชุมนุมอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน  1978

             ชมรมศิษย์เก่าฟิตจัด  นัดชุมนุมกันอีกครั้งโดยใช้ชื่อในการชุมนุมครั้งนี้ว่า “สัมมนาเฮฮาสังสรรค์”  โดยจัดขึ้นที่บ้านเณรเล็กราชบุรี    คณะกรรมการพยายามกันเหลือเกินเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงสมาชิก  ปรากฏว่า วันที่  4-6  พฤศจิกายน  1978  มีสามชิกศิษย์เก่าฯ  ให้ความร่วมมือเป็นจำนวนที่น่าพอใจถึง  80  กว่าท่าน  วิธีการสัมมนาก็แสนจะประทับใจ  ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมครั้งนี้จึงมีนัดพบกันในครั้งต่อไป

               การชุมนุมในครั้งนี้ คณะกรรมการชมรมฯ ชุดเก่าหมดวาระการทำงาน  จึงมีการเลือกตั้งประธานใหม่  โดยศิษย์เก่าอาวุโสใจกว้างเปิดทางให้ศิษย์เก่ารุ่นหนุ่ม ๆ ได้แสดงฝีมือบ้าง  ผู้ที่ได้รับความวางใจจากสมาชิกให้เป็นประธานคนใหม่คือ คุณนพดล    จรัสศรี  ศิษย์เก่าเบอร์  308

             จากนั้นมาชมรมศิษย์เก่าฯ ก็มีรูปร่างที่ชัดเจนมากขึ้น  มีศิษย์เก่าฯ  เริ่มเข้ามาสมทบอยู่เรื่อย ๆ มีการพบปะสังสรรค์กันในราวเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี  ถือเป็นการพักผ่อนร่วมกันไปในแต่ละปีด้วย  ศิษย์เก่าหลาย ๆ ท่านก็จะพาครอบครัวไปร่วมด้วย  เคยมีการจัดทำอารกันเองโดยคณะแม่บ้านที่ติดตามไปด้วย  แต่ต่อมาทางชมรมฯ เห็นว่าควรจ้างเขาทำดีกว่า    เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น  ส่วนในด้านสถานที่จัดการชุมนุมนั้น ก็ให้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เช่น บ้านซาเลเซียนชายทะเลที่เขาตะเกียบ  หรือที่บ้านสารสาสน์ของอาจารย์พิบูลย์ ชายทะเลชะอำ  หรือที่บ้านเย็นเนซาเร็ทของสังฆมณฑลราชบุรี ชายทะเลแหลมผักเบี้ย เพชรบุรี เป็นต้น

             ชมรมศิษย์เก่าฯ ได้พยายามจัดให้มีกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความผูกพันขึ้นในระหว่างบรรดาศิษย์เก่าด้วยกัน  มีกิจกรรมบางอย่างที่ดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งก็จำต้องยกเลิกไป เช่น กองทุนช่วยเหลือครอบครัวศิษย์เก่าที่เสียชีวิต  เช่น  พ่อแม่  ภรรยาหรือตัวศิษย์เก่าเองที่เสียชีวิต     กองทุนนี้จะช่วยรายละ  3,000  บาท  แต่น่าเสียดายที่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากไม่สะดวกในการรวบรวมเงินบริจาคจากบรรดาสมาชิกศิษย์เก่าฯ
กิจกรรมที่ยังสามารถจัดได้อย่างต่อเนื่องก็คือ  การจัดพิธีรดน้ำดำหัวแสดงความกตัญญูให้กับผู้ที่มีพระคุณต่อบ้านเณร เช่น พระสังฆราช  อธิการบ้านเณรและบรรดาพระสงฆ์อาวุโส  ซึ่งผู้ที่ริเริ่มกิจกรรมนี้คือ อาจารย์พิบูลย์    ยงค์กมล

สำหรับศิษย์เก่าฯ ที่ต้องบันทึกความดีของท่านไว้เพื่อเป็นตัวอย่างดี ๆ  สำหรับรุ่นน้อง ๆ นั้น ก็คือ  
1.  อาจารย์พิบูลย์       ยงค์กมล  ซึ่งการชุมนุมฯ ทุกครั้งท่านจะสนับสนุนด้วยดีเสมอมา
     ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนสถานที่ด้วย

2.  คุณสำราญ เปี่ยมพรกุล  ซึ่งยินดีเสีนสละทำงานให้กับชมรมฯ เป็นประธาน  เป็นเลขาฯ   
      เป็นเหรัญญิก  เป็นนายทะเบียน  เป็นธุระส่งข่าวคราวถึงบรรดาศิษย์เก่าฯ ตลอดจนติดต่อ 
      ประสานงานต่าง ๆ เรียกกันว่ารับหน้าที่ตั้งแต่ประธานยันภารโรงเลยทีเดียว