จาก เศษ หิน ดิน ทราย
อ.พิบูลย์ ยงค์กมล
จากครูโรงเรียนต่างจังหวัด ผันชีวิตมาเป็นครูในเมืองหลวง ต่อสู้ดิ้นรน จนสร้างอาณาจักรของตนเองในนาม "สารสาสน์" จาก 1 โรงเรียน แผ่ขยายเป็น 24 โรงเรียน จากจำนวนนักเรียน 400 คน จนถึงกว่าครึ่งแสนคนในปัจจุบัน ริเริ่มโรงเรียนระบบสองภาษาจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สิ่งเหล่านี้อาจ บ่งบอกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง สำหรับความเป็น "พิบูลย์ ยงค์กมล" ศิษย์เก่า บ้านเณรบางนกแขวก - ราชบุรี ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจ ความสามารถ ในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
เข้าบ้านเณร ปี พ.ศ. 2491 - 2497
การศึกษา - โรงเรียนดรุณานุเคราะห์
บางนกแขวก สมุทรสงคราม
- การศึกษาศาสตรบัณฑิต
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
เข้าบ้านเณรเพราะเพื่อนชวน
ครอบครัวของผมเป็นสัตบุรุษวัดนักบุญมาการีตา บางตาล มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน มีผมกับน้องชายอีกหนึ่งคนที่ไปเป็นเณร แต่น้องผมก็อยู่ได้ถึง ม.2 ก็ออก ในสมัยเด็กๆ เรียนที่โรงเรียนของวัด แล้วตอนเช้าๆ ก็ไปร่วมมิสซาทุกๆ วัน ส่วนเรื่องที่เข้าบ้านเณรนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรเลย แต่ที่ตัดสินใจ เข้าบ้านเณรเพราะเพื่อนของผม คือคุณชะลอ วรรณประทีป ได้มาชวนผมให้ไปเป็น เณรกับเขา เรื่องมันมีอยู่ว่าโรงเรียนที่บางตาลในสมัยนั้นคุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟ ท่านจะสนับสนุนให้นักเรียนเข้าไปเฝ้าศีลมหาสนิทในวัดทุกๆ วันในช่วงพักเที่ยง วันหนึ่งหลังจากที่ผมเฝ้าศีลเสร็จแล้วออกมาเจอกับคุณชะลอ เขาก็บอกผมว่าจะไป เรียนต่อที่บ้านเณร เขาก็ถามผมว่าจะไปด้วยกันหรือเปล่า ผมก็รับปากว่าไปด้วย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นผมยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า บ้านเณรที่บางนกแขวกนั้นอยู่ที่ไหน พอคุณพ่อปีนัฟโฟรู้ท่านก็ดีใจมาก ผมกับคุณชะลอจึงมาอยู่ที่วัดเป็นเวลาสองปี เพื่อจะเตรียมตัวไปเป็นเณร อยู่ที่วัดก็มีคุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟ เป็นผู้ให้การอบรม พวกผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกวาดบ้าน ช่วยรดน้ำต้นไม้ ตัดต้นไม้ ตอนเช้า ๆ ก็ต้อง วิ่งขึ้นไปตีระฆัง ผมจึงถือว่าผมได้รับหลายสิ่งหลายอย่าง จากคุณพ่อปีนัฟโฟนั่นเอง ผมจึงระลึกถึงพระคุณของท่านเสมอๆ แล้วปัจจุบันที่โรงเรียนวังตาลวิทยา ผมก็ไปสร้างตึกที่นั่น โดยให้ชื่อว่าปีนัฟโฟอนุสรณ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณ ของคุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟ
ชีวิตเณรแสนสบาย (อยู่บ้านนอนพื้น อยู่บ้านเณรนอนเตียง)
เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปเลย ทุกๆ อย่างดูตื่นตาตื่นใจไปหมด คุณพ่อ พาเราสองคนนั่งรถไฟเพื่อไปต่อเรือที่ราชบุรี เพื่อที่จะนั่งเรือเข้าไปที่บางนกแขวก เณรในรุ่นเดียวกันกับผมนั้นมีแค่ผมกับคุณชะลอเพียงแค่สองคนเท่านั้น แล้วใน ตอนหลังจึงมีคุณประวัติ พี่ชายของคุณชะลอตามไปด้วย แล้วปีแรกก็ไม่ได้ ไปอยู่ที่บ้านเณรด้วย แต่เราต้องไปอยู่ร่วมกับนักเรียนประจำ เราทั้งสองคน จะได้เรียนภาษาละตินกับคุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ แล้วในโอกาสที่บ้านเณร พาเณรไปพักผ่อนที่หัวหิน เราสองคนก็ได้ไปร่วมพักผ่อนกับเณรคนอื่นๆ ด้วย การใช้ชีวิตในบ้านเณรสำหรับผมนั้นดูเหมือนจะราบรื่นไม่มีปัญหาหรือรู้สึกว่าลำบาก เพราะเมื่อเราอยู่ที่บ้านเณร ทุกๆ สิ่งก็ดีกว่าที่บ้านนอกที่เราเคยอยู่ไปเสียหมด ทั้งอาหารการกิน อยู่ที่บ้านนอนพื้น แต่อยู่บ้านเณรได้นอนเตียง ด้วยความไม่เคยชิน ก็ทำให้นอนตกเตียง แต่ที่ดูจะเป็นอุปสรรคสำหรับผมก็คือเรื่องการเรียน โดยเฉพาะ ภาษาละตินนี่แหละ เพราะผมเองก็เป็นคนที่หัวไม่ค่อยดี จึงรู้สึกว่ามันยาก จะเคย สัมผัสกับภาษาละตินก็แค่เพียงช่วงที่เป็นเด็กวัดแล้วช่วยพิธีมิสซาเท่านั้นเอง ส่วนภาษาอังกฤษก็พอไปได้ โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยได้เรียนมาก่อนเลย แต่ถ้าเทียบกับนักเรียนนอกทั่วๆ ไป ก็ถือว่าพอใช้ได้ นักเรียนนอกที่เรียนด้วยกัน แต่ก็ไม่ค่อยได้คุยกันซักเท่าไหร่ เพราะเขามีกฎว่าห้ามคุยกับเพื่อนนักเรียนนอก ก็คุยกันบ้าง แต่เมื่อมาอยู่ที่บ้านเณรถ้าเทียบกับเพื่อน ๆ เณรด้วยกันนั้น ผมก็เป็น ที่สุดท้ายตลอด เพราะเพื่อน ๆ ของผมทุก ๆ คนเป็นคนที่เรียนเก่งด้วยกันทั้งนั้น จนทำให้ผมท้อคิดอยากจะออกจากบ้านเณรตั้งแต่ชั้น ม.4 แล้ว แต่คุณพ่อกิมเฮียง (คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ คุณพ่อศึกษาในสมัยนั้น) ท่านเรียกผมไปพบ แล้วถามว่าผมไม่เข้าใจเรื่องอะไร พอได้คุยกับท่าน ท่านจึงได้มาเป็นคนช่วยสอนผม จนผมสามารถเรียนตามเพื่อนได้ทัน ปัจจุบันนี้ผมจึงรัก และระลึกถึงพระคุณ ของท่าน ผมไปเยี่ยมเยียนท่านอยู่เสมอๆ
อยาก "กลับ" ไปเป็นเณรไหม?
พอจบชั้น ม.6 ผมก็เรียนชั้นปรัชญาที่บ้านเณร สมัยนั้นก็รู้สึกว่าเงียบเหงา เพราะพวกเราก็เป็นวัยรุ่น วันๆ เอาแต่นั่งเรียน ทั้งวิชาปรัชญา ซึ่งใช้ภาษาละติน ในการเรียนด้วย วิชาดนตรีก็มีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ซึ่งสมัยนั้นยัง เป็นคุณพ่อหนุ่มๆ อยู่เป็นผู้สอน แต่วิชาที่หนักมากๆ เลยก็คือภาษาอังกฤษ ผมยังจำได้ว่าชื่อวิชา Learning by Thinking คือการเรียนด้วยการคิด แต่เมื่อมา เรียนจริง ๆ มันไม่ได้คิดเลย แต่จะเป็นการท่องจำเสียส่วนใหญ่ ในระยะแรกๆ ผมก็พอจำได้ แต่เมื่อเรียนไปเรียนมาก็ชักจะไม่ไหว ผู้ใหญ่ท่านก็รู้ว่าผมเรียนไม่ไหว ในที่สุดก็ออกจากบ้านเณร เมื่อออกมาแล้วผู้ใหญ่ก็ให้ผมไปพบพระคุณเจ้าเปโตร คาเร็ตโต ท่านก็ส่งให้ผมไปเป็นครูที่โรงเรียนดรุณานุกูล หลังจากที่ไปอยู่ที่แม่กลอง ได้ประมาณ 1 เดือน คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นคุณพ่อศึกษา ท่านก็ตามไป เยี่ยมผม แล้วก็ถามผมว่าอยากจะกลับไปเป็นเณรหรือไม่ แต่ผมก็ปฏิเสธท่านไป ส่วนตัวผมเองคิดว่าทางผู้ใหญ่คงจะปรึกษากันว่า ที่ผมต้องออกจากบ้านเณรนั้น ไม่ได้ออกเพราะเรื่องเสียหายอะไร แต่เพียงเพราะเรียนตามเพื่อนๆ ไม่ทันเท่านั้นเอง ทำให้รู้สึกท้อใจ ท่านเลยมาชวนผมเพื่อกลับไป แต่เมื่อเรามาอยู่ข้างนอกแล้ว ไม่ต้อง ลำบากใจกับเรื่องการเรียน ผมจึงปฏิเสธท่านไป
เริ่มต้นชีวิต "ครู" ที่กรุงเทพฯ
เมื่อผมอยู่ที่โรงเรียนดรุณานุกูลก็อาศัยอยู่ที่วัดนั่นเอง อยู่ที่นั่นนอกจาก จะเป็นครูแล้วผมยังช่วยคุณพ่อเล่นหีบเพลง ให้เด็กที่เป็นนักขับร้องฝึกขับร้องกัน บางครั้งคุณพ่อก็ให้ผมพากษ์หนังให้พวกเยาวชนดูด้วย เพราะผมก็เคยดูมา ก่อนแล้วตอนอยู่ที่บ้านเณร ผมทำงานอยู่ที่ดรุณานุกูลได้ไม่ถึงหนึ่งปีก็ลาออก คิดว่าจะเข้ากรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นจะไปทำอะไร ความตั้งใจจริง ๆ ที่จะเข้ากรุงเทพฯ ก็เพื่อจะเข้าไปเรียนทางด้านการก่อสร้าง แต่เนื่องจากไม่มีเงิน ก็เลยไม่ได้เรียนตามที่ตั้งใจ พอดีพี่สาวของผมเป็นแม่ครัวอยู่กับคุณครูมารี โรส ซึ่งเป็นซิสเตอร์คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ (คลองเตย) ที่โรงเรียนฟาติมา ที่ตรอกจันทร์ ในช่วงนั้นโรงเรียนฟาติมากำลังอยู่ในช่วงแยกเป็นโรงเรียนเปรมฤดี โดยย้ายนักเรียนชายจากฟาติมามาด้วย ส่วนที่ฟาติมานั้นซิสเตอร์คณะอุร์สุลิน ก็ซื้อไป แล้วตั้งเป็นโรงเรียนวาสุเทวี ผมจึงได้เป็นครูที่โรงเรียนเปรมฤดี จะว่าไป ผมเป็นคนที่สมัครเป็นครูของโรงเรียนเปรมฤดีคนแรกก็ว่าได้ เพราะในสมัยนั้น คนที่จะเป็นครูนั้นค่อนข้างจะหายาก คุณครูมารี โรสจึงรับผมเข้าทำงานทันที ช่วงสองสามปีแรกผมก็ได้ไปเรียนเพื่อสอบเทียบได้วุฒิ ม.8 ที่วัดสุทัศน์ฯ ไปด้วย สองปีแรกไปสอบก็ไม่ผ่าน แต่พอปีที่สามไม่ได้ไปเรียนแต่สอบผ่าน แล้วจึงไป สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะนิติศาสตร์ แต่มาตัดสินใจว่า จะเรียนเป็นครู จึงได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรแทน ผมสอนอยู่ที่โรงเรียนเปรมฤดีอยู่ 9 ปี ผมได้รู้จักกับครูเพ็ญศรี ภรรยาของผม ที่นั่นเอง เพราะเขาก็มาเป็นครูอยู่ที่นั่น เมื่อรู้จักกันก็ได้คบหาแล้วก็แต่งงานกัน ในสมัยที่ผมเป็นครูอยู่ที่เปรมฤดีนี่เอง ก่อกำเนิดโรงเรียนในเครือสารสาสน์ จากนักเรียน 400 จนกลายเป็นกว่าครึ่งแสน ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) หลังจากที่เป็นครูอยู่โรงเรียนเปรมฤดี 9ปี ก็ลาออกมาทำโรงเรียนของตัวเอง โดยมีเพื่อน ๆ หลายคนเป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่งก็คือโรงเรียนสารสาสน์พิทยา สาธุประดิษฐ์ โดยเช่าที่ดินของลูกศิษย์ ในระยะแรกเริ่มนั้นผมต้องทำเองทุกๆ อย่าง ทั้งเป็น ครูใหญ่ สอนเรียน ออกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ ทำทุก ๆ อย่าง รวมทั้ง ตอนเย็นยังต้องไปเรียนด้วย จึงทำให้ต้องพักการเรียนไปหนึ่งปี เพื่อมาทุ่มเวลา กับการทำโรงเรียน ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ๆ เงินก็ไม่มีที่จะไปจ้างคนอื่นมาช่วยทำงาน ตอนเปิดปีแรกมีนักเรียน 400 คน มีตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมจนถึง มศ.3 ส่วนใหญ่ จะเป็นนักเรียนชายที่ค่อนข้างจะเกเร ย้ายมาจากโรงเรียนอื่นๆ ผมก็รับไว้ แล้วสุดท้าย หุ้นส่วนทุกคนก็ขายหุ้นกันหมดเหลือผมคนเดียว ในที่สุดก็ผ่าน วิกฤตช่วงแรกมาได้ หลังจากนั้นประมาณปีที่ห้าผมก็เริ่มมองว่า เนื่องจากที่ดิน ที่เราทำโรงเรียนอยู่นั้น เป็นที่ ๆ เราเช่าเขาอยู่ สถานการณ์มันบังคับให้เราต้องดิ้นรน ดังนั้นผมจึงชวนพี่สาวที่อยู่โคราชมาร่วมหุ้นกัน เซ้งที่ของกรมธนารักษ์ 4 ไร่ 44 ตารางวา แล้วทำโรงเรียนแห่งที่สองคือโรงเรียนสารสาสน์พัฒนา ในปี พ.ศ.2512 ทำไปทำมา ประมาณ 2 ปีโรงเรียนยังไม่มีกำไร ในที่สุดพี่สาวก็ตัดสินใจขายหุ้น ในส่วนของเขาทั้งหมดให้ผมอีก แล้วผมก็ทำเรื่อยๆ มาจนค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากนั้น ประมาณ 4-5 ปี คุณอีวอน มงคล วังตาล ซึ่งได้ก่อตั้งโรงเรียนวรมงคลขึ้นในปี พ.ศ.2512 พร้อมๆ กับโรงเรียนสารสาสน์พัฒนาของผม ท่านได้เสียชีวิตลง แล้วได้มอบโรงเรียนวรมงคลให้กับทางสังฆมณฑลราชบุรี คุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ ท่านขึ้นมาดูโรงเรียนที่ทางคุณมงคลมอบไว้ให้กับสังฆมณฑลฯ แล้วท่านก็ได้มา เยี่ยมเยียน พูดคุยกับผมในฐานะลูกวัดบางตาลเหมือนกัน และผมก็เป็นลูกศิษย์ เรียนภาษาละตินกับท่าน เนื่องจากสถานการณ์ที่โรงเรียนวรมงคลในตอนนั้น ก็ค่อนข้างลำบาก ผมจึงอาสาขอช่วยทางสังฆมณฑลดูแลโรงเรียนวรมงคลให้ ท่านก็นำเรื่องเข้าที่ประชุมของสังฆมณฑล พระสังฆราชเอก ทับปิง ซึ่งเป็นเณรรุ่นพี่ ของผม ท่านก็อนุญาตให้ผมช่วยทำ ผมช่วยทำอยู่ 3 ปี ในที่สุดทางสังฆมณฑล ก็ขอร้องให้ผมทำต่อเรื่อยๆ มาเป็นเวลาประมาณ 25 ปี แล้วผมก็ถอนตัวออกมา แล้วคืนให้กับทางสังฆมณฑล แต่ในปัจจุบันผมก็กลับเข้าไปช่วยสังฆมณฑล ดูแลโรงเรียนวรมงคลอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ได้ขยายกิจการโรงเรียนในเครือ สารสาสน์เรื่อยมา
อาณาจักรสารสาสน์
ปัจจุบันโรงเรียนในเครือสารสาสน์มีทั้งหมด 24 แห่ง รวมถึงโรงเรียน ที่ผมกำลังทำให้ทางสังฆมณฑลราชบุรีแต่ใช้ชื่อสารสาสน์ ตั้งอยู่ที่คลองหลวงอีก 1 แห่ง โรงเรียนในเครือของเรามีโรงเรียนที่เป็นระบบสองภาษาจำนวน 13 โรงเรียน ซึ่งได้ริเริ่มการศึกษาระบบสองภาษาตั้งแต่ปี 2538 และกำลังเป็นที่นิยมมากอีกด้วย จำนวนนักเรียนในระบบสองภาษามีเกือบสามหมื่นคน ซึ่งจำนวนนักเรียน ทั้งหมดในเครือสารสาสน์มีประมาณห้าหมื่นกว่าคนในปัจจุบัน ส่วนตัวผมไม่ได้คิดอะไร ผมก็ทำมาเรื่อยๆ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะประสบ ความสำเร็จมากมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่เมื่อผมมามองย้อนหลังไปก็เห็นว่า มันมากมายจริงๆ มีคนถามผมว่า เมื่อไหร่ผมถึงจะหยุด ผมก็ตอบว่า ทุกวันนี้ ที่ผมทำ ไม่ได้ทำเพื่อแค่ให้พอ เพราะถ้าจริงๆ แล้ว แค่โรงเรียนเดียวผมก็ สามารถอยู่ได้แล้ว ครอบครัวของผมก็สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ที่ผมทำอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้เพราะผมคิดถึงคนของผม เพื่อคนของเราสามารถอยู่ได้ ปัจจุบันผมมี โครงการที่ให้โอกาสและช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีที่เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรี ประมาณร้อยกว่าคนด้วย เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้มี โอกาส มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม
แนวคิดโรงเรียนสองภาษา เริ่มจากแหม่มคนหนึ่ง
คือมีหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเลิกรากับสามีแล้วย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ได้ส่งลูกเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสารสาสน์พิทยา แล้วผมก็ให้เธอเป็นคนคอยฝึกฝน ภาษาอังกฤษให้ครูของเรา แล้วเราก็จัดค่ายภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนของเราขึ้น ที่ชะอำ หลังจากนั้นเธอก็ได้เสนอความคิดให้กับผมว่า น่าจะเปิดโรงเรียนเป็นระบบ สองภาษาแบบที่อเมริกา ซึ่งตัวเธอเคยอาศัยอยู่ที่บอสตัน โรงเรียนที่ลูกของเธอ เรียนก็เปิดเป็นระบบสองภาษาคืออังกฤษและสเปน เพราะที่นั้นมีชาวสเปน อาศัยอยู่เยอะ ผมจึงได้ส่งครูของเราไปดูงานที่โรงเรียนนั้น เมื่อกลับมาก็มีครู ของโรงเรียนที่บอสตันมาวางหลักสูตรให้เรา ตอนแรกผมจะเปิดเป็นโรงเรียน นานาชาติแต่ทางการไม่อนุญาต เนื่องจากเหตุผลว่าไม่มีบรรยากาศ ท้ายที่สุด ผมจึงเปิดเป็นโรงเรียนสองภาษาขึ้นเป็นโรงเรียนแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ แล้วเนื่องจากว่าโรงเรียนสองภาษากำลังเป็นที่ต้องการของเมืองไทย จึงทำให้ โรงเรียนสองภาษาของผมประสบความสำเร็จ
ฝากไว้สำหรับศิษย์เก่ารุ่นหลัง (รุ่นหลาน)
เวลาเป็นเณร เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราเป็นคนโชคดี เป็นคนที่ได้รับพระพร พิเศษกว่าคนอื่นๆ ได้รับทรัพย์สมบัติทั้งทางโลกและทางธรรมเหลือคณานับจริงๆ ผมเป็นและมี ทุกวันนี้ได้เพราะบ้านเณร ผมสำนึกอยู่ตลอดเวลา และคิดเสมอมาว่า ต้องตอบแทนบ้านเณร เป็นหนี้บ้านเณร ทดแทนอย่างไร ก็ไม่หมด