อ.ชะลอ วรรณประทีปจาก เศษ หิน ดิน ทราย
อ.ชะลอ วรรณประทีป

เข้าบ้านเณร          ปี พ.ศ. 2491
การศึกษา          - โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก  สมุทรสงคราม
                       
- ปริญญาตรี (ปรัชญา) ประเทศอินเดีย
                        
- ประกาศนียบัตร Personnel Administration จาก NIDA
                       
- ประกาศนียบัตร Project Design and Management จาก Washington, D.C.
                        
- ประกาศนียบัตร Purchasing จาก The Ohio StateUniversity.
                       
- ประกาศนียบัตร Communications จาก Michigan State University.            

อดีต                 

1. ผู้บุกเบิก และผู้อำนวยการโคเออร์ที่ประเทศกัมพูชา
2. ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระฟาติมา (BLUE ARMY) ในประเทศไทย
3. ผู้แปลหนังสือ "ศรัทธาทรงชีวิต"  เป็นหนังสือนำเสนอหลักความเชื่อ และข้อปฏิบัติที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา โดยแบ่งเป็น 46 หัวข้อ มีรูปภาพและแผนที่ ประกอบ มีบทความที่อ้างอิงพระคัมภีร์และคำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2 มี คำถามที่ท้าทายให้คิดและอภิปรายได้ มีบทภาวนาท้ายบท เหมาะสำหรับผู้ที่แสวงหาความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับความเชื่อคาทอลิก จัดพิมพ์โดย ศูนย์ คริสตศาสนธรรม กรุงเทพฯ  มิถุนายน 2538
4. ผู้แปลสมณสาสน์ "Deus Caritas Est"  "Caritas in Veritate" ฯลฯ

ปัจจุบัน

1. ฝ่ายต่างประเทศและการแปล สำนักเลขาธิการสภาพระสังฆราช คาทอลิกแห่งประเทศไทย
2. คณะอนุกรรมการพิจารณา ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริมการศาสนา คุณธรรมจริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม และกฎหมาย  (รัฐสภา)
3. คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
4. คอลัมน์นิสต์ประจำอุดมสาร และอุดมศานต์ โดยใช้นามปากกาว่า "ว.ประทีป"

จุดเริ่มต้นของกระแสเรียก

               ผมเป็นสัตบุรุษวัดนักบุญมาร์การีตา บางตาล  บ้านของผมอยู่ไกลมาก ประมาณ  5  กิโลเมตร  จะต้องเดินมาเรียนทุกวัน ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าไปวัดบ่อย แค่ไหน แต่วันอาทิตย์ไม่เคยขาดวัดเลย  พ่อของผมเป็นคนจีนที่มาจากเมืองจีน โดยตรง ส่วนแม่ก็เป็นคนจีน แต่เป็นจีนที่เกิดในประเทศไทย ผมมีพี่น้อง 9 คน  ผมเป็นคนที่ 7  พ่อซึ่งเป็นคนจีนสมัยก่อนจะหวงลูกไม่อยากให้ไปเรียน อยากให้ ช่วยทำงานมากกว่า ดังนั้นพวกพี่ๆ จึงไม่ได้เรียนหนังสือกัน คุณพ่อเสียชีวิต ตอนผมอายุได้ 4 ขวบ  ผมเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวังตาลเอื้อดรุณ  มีครูประสาน กฤษเจริญ บิดาของพระสังฆราชปัญญา กฤษเจริญ เป็นครูใหญ่ คุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้ส่งผมและคุณพิบูลย์ ยงกมล เข้าบ้านเณร พร้อมกัน โดยก่อนที่จะส่งพวกผมเข้าบ้านเณร ท่านได้ให้พวกผมมาอาศัยอยู่ที่ วัดเป็นเวลา 1 ปี เรียกได้ว่าเป็นเด็กวัด เพื่อจะเตรียมพวกผมให้เข้าบ้านเณร ผมเป็นเด็กวัดจะเข้าวัดทุกเช้า สมัยก่อนเขาจะมีคูปองแจกไว้ลุ้นจับของรางวัล ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสมาเป็นสิ่งล่อให้เด็กมาวัด   เมื่อคุณพ่อมาบอกให้ผมเข้า บ้านเณร ผมก็รับปากท่านทันทีด้วยความรู้สึกชอบและอยากไปเป็นเณร ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการเป็นเด็กวัด อยู่ใกล้ชิดพระสงฆ์ ได้ช่วยมิสซา จนเกิดความรู้สึกชอบ อีกประการหนึ่ง ตอนนั้นผมคิดแบบเด็กๆ ว่า ในละแวกที่ผมอยู่ก็เป็นบ้านนอก เมื่อมองดูเพื่อนๆ พี่น้องคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเณร ก็จะหยุดอยู่แค่ตรงจุดนั้นมองไม่เห็นว่าชีวิตจะมีอะไรดีขึ้น ตอนนั้นผมคิดว่าหากไปเป็นพระสงฆ์ก็จะมี โอกาสที่ดี  แต่พอจะไปจริงๆ ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เราไปคนเดียว บ้านเณรอยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้จัก แล้วเราจะไปอยู่ได้หรือไม่ จึงอยากจะมีเพื่อนไปด้วย โดยได้ชวนคุณพิบูลย์ ยงค์กมล  เพื่อนซี้ให้ไปเป็นเณรด้วย ในที่สุดจึงได้ไปเป็นเณรด้วยกัน ในวันที่ไป บ้านเณรนั้น เราไม่รู้จักทางที่จะไปบางนกแขวก คุณพ่ออธิการบ้านเณรคือ คุณพ่อยวง โกลอมบินี จึงได้มารับพวกผมที่วัดบางตาลด้วยตัวของท่านเอง โดยนั่งรถไฟจากบางตาลมุ่งสู่ราชบุรี แล้วนั่งเรืออีกต่อหนึ่งเข้าไปบางนกแขวก    เมื่อผมเข้าบ้านเณรได้ไม่นาน พี่ชายผมคืออาจารย์ประวัติ ก็ตามผม ไปอยู่ที่บ้านเณรด้วย ผมกับพี่ชายเรียนชั้นปีเดียวกันเพราะตามปกติ ระดับชั้น จะแบ่งตามระดับอายุ แต่พี่ชายของผมไม่ยอมไปเรียน พอถึงเกณฑ์ที่ผมสามารถ เข้าเรียนได้ เขาจึงมาเข้าเรียนพร้อมกับผม 

ชีวิตเณรกับชีวิตเด็กประจำ   

                ช่วงที่เข้าบ้านเณรในสมัยนั้นกฎระเบียบจะเคร่งครัดมาก จะไม่ให้สัมผัส กับคนภายนอก แม้ว่าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์จะอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเณร แต่เณร ก็ไม่ได้ข้ามไปเรียนที่นั่น แต่จะจ้างครูมาสอนที่บ้านเณร ซึ่งเป็นการเรียน การสอนที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางรัฐบาล แต่ความรู้ที่ได้รับก็ไม่ด้อยไปกว่า โรงเรียนข้างนอกเลย ในปีแรกที่ผมเป็นเณร ทางบ้านเณรกำลังเปลี่ยนนโยบาย ให้เณรไปเรียนกับนักเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์  ผมกับอาจารย์พิบูลย์จึงถูกส่ง มาเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์เหมือนกับเป็นเด็กประจำ แล้วช่วงนั้น โรงเรียน ดรุณานุเคราะห์กำลังเริ่มก่อสร้าง  สมัยของคุณพ่อเยลีชี  ท่านได้สร้างกะต๊อบตรง บริเวณถนนรอบวัดบางนกแขวก แล้วเราก็ได้เรียนกันที่นั่น  ส่วนที่พักจะเป็นบริเวณ โรงละครที่อยู่ข้างบ้านพระสังฆราช  อยู่ที่นั่นได้ช่วงหนึ่งก็ต้องย้ายกลับ มาอยู่ที่บ้านเณร โดยที่เณรทุกคนจะข้ามฟากไปเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์  ดังนั้น พวกที่เข้าบ้านเณรก่อนผม ก็ต้องถอยกลับมาเรียนชั้นม.2 อีก ตอนนั้นผมจบ ม.1 และจะต่อชั้น ม.2 พอดี ก็เลยกลายเป็นชั้นเดียวกัน นอกจากนี้ ต้องเรียนภาษา ละตินด้วยซึ่งยากมาก  ไม่ว่าจะใช้ชีวิตแบบเด็กเณร หรือแบบเด็กประจำ  ผมคิดว่าพร้อมรับได้ ทุกอย่าง  เพราะผมอยากเป็นพระสงฆ์ แม้ว่าจะลำบากอย่างไรผมคิดว่าผมพร้อม ยอมรับ  จะว่าไปชีวิตก็ค่อนข้างสุขสบาย อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นพระศาสนจักร ต้องการพระสงฆ์มาก ทางบ้านเณรจึงจัดการให้เราทั้งหมด ทั้งเรื่องเงินทอง ที่ไม่ต้องเสียอะไรเลย นอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสื้อผ้า  ไม่ต้อง ห่วงกังวลเรื่องอาหาร สมัยนั้นอาหารว่างที่ทานเป็นประจำคือกล้วยบวชชี   จนปัจจุบันนี้ผมเลิกทานกล้วยบวชชี และกล้วยน้ำว้าไปโดยปริยาย  นอกจากนี้ บ้านเณรยังมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด อย่างเช่นเมื่อผมเป็นครูเณร ก็จะห้ามไม่ให้ใช้นาฬิกาข้อมือ คุณพ่ออธิการโปรเวราท่านจะให้นาฬิกาแบบแขวน มาให้ผมใช้ดูเวลา  เมื่อจะทำการบ้านก็ต้องใช้ปากกาแบบจิ้มหมึก ถ้าเขียนภาษาไทย ก็ใช้หัวเบอร์ 5 ส่วนภาษาอังกฤษจะใช้ปากกาคอแร้ง  เรื่องการอาบน้ำ บ้านเณรจะ ห้ามใช้สบู่ที่มีกลิ่นหอม เช่น สบู่ลักซ์ ใช้ได้แต่สบู่แบบที่ทำเอง เป็นก้อนสีเหลืองๆ แบบไม่มีกลิ่น เวลาอาบน้ำจะนุ่งกางเกงขาก๊วยลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ หิ้วกระป๋อง หนึ่งใบสำหรับซักผ้า เวลาอาบน้ำก็ต้องเงียบ ไม่ใช่จะเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนาน เพราะเวลาอาบน้ำมีจำกัด เสร็จแล้วจะเดินแถวกลับบ้านเณรอย่างเงียบๆ ทุกขั้นตอน จะมีคุณพ่อศึกษาคอยดูแลอยู่ตลอด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี้แหละที่กลายเป็นนิสัย ติดตัวเรามาตลอด เช่น การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ ฯลฯ

                เรื่องการศึกษานั้นผมคิดว่าเป็นพระพรของพระที่ประทานมาให้ผม  และ พี่น้องของผมทุกคนก็เรียนดีเช่นกัน  จำได้ว่าที่โรงเรียนประชาบาลที่บางตาลไม่มี การสอนภาษาอังกฤษเลย แต่พอมาเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ผมก็ สามารถเรียนตามเพื่อนๆ คนอื่นได้ทัน ส่วนภาษาละตินต้องยอมรับว่าค่อนข้างยาก แต่ก็พอจะเรียนไหว ซึ่งในภายหลัง ภาษาละตินได้ช่วยผมมากเลย เช่นตอนที่ ไปเรียนที่บ้านเณรปีนัง ที่นั่นใช้ภาษาละตินทั้งหมด ไม่ว่าจะเรียน หรือแม้แต่เวลา พูดคุยก็ยังให้ใช้ภาษาละตินทั้งหมด จนปัจจุบันเมื่อผมแปลเอกสารต่างๆ ก็แทบไม่ต้องพึ่งพาดิกชันนารี่เลย ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนภาษาละตินนั่นเอง

"He is Greek with the Greek, he is Indian with the Indian"

                เมื่อจบชั้น ม.6 จากบ้านเณรเล็กแล้ว ผมก็อยู่เป็นครูเณรที่บ้านเณรเล็กต่ออีก หลังจากนั้นได้ไปเรียนปรัชญาที่ประเทศอินเดียเป็นเวลาสี่ปี แล้วจึงมาเข้า บ้านเณรใหญ่ที่ปีนัง ชีวิตตอนที่อยู่อินเดียค่อนข้างยากลำบากมาก ทั้งเรื่อง อากาศและอาหารการกิน แต่ผมค่อนข้างจะอดทนและยอมรับได้ ผมสามารถ ปรับตัวเข้ากับเณรอินเดียได้ จนเณรอินเดียถึงกับเขียนในของขวัญคริสต์มาส ให้ผมว่า "He is Greek with the Greek, he is Indian with the Indian" เป็นการแสดงออกว่าเขายอมรับว่าผมอยู่กับคนอินเดีย ผมก็ปรับตัวให้อยู่ได้ เหมือนกับเป็นคนอินเดีย เมื่อจบจากอินเดียผมได้มาพักอยู่ที่ราชบุรีประมาณหนึ่งปี กว่าเพื่อรอจะไปเรียนต่อที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง  ช่วงเวลานี้ผมได้ทำงานเป็นเลขานุการ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต เพราะท่านค่อนข้างรักผม ขนาดเวลาที่ผมออก จากบ้านเณรท่านเสียใจมาก (เพื่อน ๆ ที่ออกจากบ้านเณรจะต้องชดใช้สังฆมณฑล ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ส่วนผมไม่ต้องชดใช้อะไรเลย แถมพระสังฆราชยังให้เงินผม มาจำนวนหนึ่งด้วย เพื่อตัดเสื้อผ้าและเริ่มต้นชีวิต) ส่วนชีวิตเณรที่ปีนังนั้นค่อนข้าง เคร่งครัดเช่นกัน ห้ามติดต่อกับคนนอก ถ้าคุยกับคนนอก เวลากลับมาต้องมา รายงานให้ผู้ใหญ่ทราบ เณรที่นั่นจะเป็นเณรที่มาจากประเทศต่างๆ ผมใช้เวลา อยู่ที่บ้านเณรปีนังเพื่อเรียนเทววิทยาประมาณ 2 ปีกว่า ๆ ก็ตัดสินใจเปลี่ยน กระแสเรียกออกมา

 

ผู้บุกเบิกโคเออร์ในประเทศกัมพูชา

                 ความรู้สึกในตอนนั้นเคว้งคว้างไปหมด เพราะเราไม่เคยมีแผนการอะไร มาก่อน แล้วกระแสสังคมที่กดดันคนที่ออกจากบ้านเณรก็แรงมาก ในที่สุด ผมจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเป็นครู โดยมีพี่ชายที่ออกมาก่อนผมอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว ผมมาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนกิตติพานิชย์ ได้ประมาณปีกว่าๆ พอดีตอนนั้น องค์การ USOM (United State Operation Mission to Thailand) เป็นองค์กร ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ได้เปิดรับสมัครล่าม ผมจึงไปสมัคร และได้ทำงานที่นั่น ชีวิตช่วงนั้นก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ จากการงานที่ดี ซึ่งต้องยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับบ้านเณร เพราะสิ่งต่างๆ ที่ได้รับการอบรมมา เมื่อพระ ให้ผมมากผมจึงตอบแทนพระโดยเมื่อผมพอจะมีฐานะดีขึ้น ผมได้ช่วยเหลือ คนที่ด้อยโอกาส เช่น ให้ทุนการศึกษากับเด็กๆ ช่วยเหลืองานด้านต่างๆ ของ พระศาสนจักรอย่างเต็มที่ เพราะผมคิดว่าตนเองมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะพระให้เรามา สังคมให้เรา  ผมจึงต้องตอบแทนพระ ตอบแทนสังคม  ผมทำงานอยู่ที่ USOM ประมาณสิบปี โดยเริ่มจากการเป็นล่าม แล้วได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นจนได้เป็น รองหัวหน้าแผนกพัฒนาและวิจัย  ซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เป็นตำแหน่งนี้ จนกระทั้งช่วงที่กองทัพอเมริกาพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม องค์กรนี้จึงค่อยๆ ยุติบทบาทลง ผมจึงถอนตัวออกมา โชคดีที่สมัยนั้น คนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ ยังมีไม่มากเท่าไหร่  เมื่อผมไปสมัครงานสามแห่งก็ได้งานทั้งสามแห่ง แต่ผมเลือก ทำงานที่โรงเรียนนานาชาติ ที่จริงแล้ว เขารับผู้ที่จบปริญญาโท แต่เพราะผมมี ประสบการณ์จึงได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ผมทำงานอยู่ที่โรงเรียน นานาชาตินี้เป็นเวลาแปดปี  หลังจากที่ออกมาจากโรงเรียนนานาชาติแล้ว ผมจึงริเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว เป็นธุรกิจส่งออกสินค้า แต่เหมือนว่าผมไม่มีโชค ทางด้านนี้ เพราะทำเท่าไหร่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในที่สุดจึงล้มเลิกกิจการส่งออก แล้วเข้ามาทำงานเกี่ยวกับพระศาสนจักร โดยร่วมงานกับองค์กรโคเออร์ ซึ่ง ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยผมรู้จักกับคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร  ท่านจึงให้ผมเป็นผู้ช่วย ในการไปตรวจแค้มป์ต่างๆ ทำงานได้ประมาณสองปี  ช่วงนั้นแคมป์ชาวเขมรกำลัง จะปิดตัวลง ชาวเขมรได้บอกว่า หากส่งพวกเขากลับไปพวกเขาก็ไม่รู้จะอยู่กัน อย่างไร ทางโคเออร์จึงมีความคิดจะเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศเขมร เพราะไม่ต้อง ลงทุนอะไรมาก เครื่องไม้เครื่องมือในการสอนอาชีพ เครื่องมือด้านพยาบาล ก็มีเยอะ รวมถึงอาสาสมัครก็เยอะ เราจึงพร้อมที่จะเข้าไปทำงานในประเทศเขมร ในที่สุด ทางโคเออร์จึงตัดสินใจจะไปทำงานในเขมร โดยมีจดหมายไปถึงเจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์ของเขมร ว่าองค์กรโคเออร์จะเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศ  แต่ไม่มี การติดต่อกลับ ทางเราก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป  เพราะอีกไม่นานค่ายจะปิด ตัวลง สุดท้าย คุณพ่อบุญเลิศจึงให้ผมบินไปกัมพูชาเพื่อติดตามผล เมื่อไปถึง ผมได้เข้าไปติดต่อที่กระทรวงการต่างประเทศ  เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ เปิดทาง เราจึงได้เข้าไปปฎิบัติงานในกัมพูชา ดังนั้น งานของโคเออร์ที่กัมพูชา ถือว่าผมนี่แหละเป็นคนบุกเบิกที่นั่น เราได้จัดเปิดสถานที่ฝึกอบรมอาชีพและ ช่วยเหลือพี่น้องชาวเขมรในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านจิตวิญญาณด้วย 

                  มีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมอยากจะแบ่งปัน คือเมื่อครั้งที่ผม คุณพ่อบุญเลิศ และทีมแพทย์กำลังเดินทางไปดูที่ทางสำหรับสร้างโรงพยาบาล เมื่อเดินทาง ไปถึงตัวจังหวัด ๆ หนึ่ง เป็นจังหวัดเล็กๆ คณะของเราได้มองหาร้านอาหาร ก็พบร้านหนึ่งที่ค่อนข้างดูดีสักหน่อย เป็นร้านของชาวเวียดนาม ขณะที่เรานั่ง รับประทานอาหารกันอยู่ เจ้าของร้านมองเห็นกางเขนที่ติดอยู่ที่เสื้อของ คุณพ่อบุญเลิศ จึงเข้ามาสอบถาม เมื่อรู้ว่าคุณพ่อเป็นบาทหลวงคาทอลิก เจ้าของร้าน ท่านนั้นดีใจมาก คุณพ่อบุญเลิศสามารถพูดภาษาญวนได้จึงคุยกันได้ความว่า ชั้นสองของร้านนั้นเป็นโรงสวด ในแต่ละอาทิตย์จะมีชาวญวนมารวมตัวกัน สวดภาวนาร่วม 300 คน แต่ปัญหาก็คือ เป็นเวลา 18 ปีมาแล้ว ที่ไม่เคยมีพระสงฆ์ มาโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์และเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนชาวญวนกลุ่มนี้เลย ผมจึงได้เขียน จดหมายถึงพระสมณทูต โดยใช้ชื่อของผมเอง ไม่นานก็ได้รับข่าวดีว่ามีพระสงฆ์ ขึ้นไปทำมิสซาให้กลุ่มคริสตชนชาวญวนกลุ่มนี้ นี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานเช่นกัน  เวลาอยู่ที่กัมพูชานั้นผมเป็นผู้แทนของโคเออร์ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โคเออร์ที่กัมพูชา  ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศกัมพูชาถึง 8 ปี รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ที่อยู่ในองค์กรโคเออร์ประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นโคเออร์ก็ขอถอนตัวออกมา จากกัมพูชา  ผมได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ National Construction เซ็นโดยสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 1) และสมเด็จ ฮุนเซ็น (นายกรัฐมนตรีคนที่สอง) ด้วย

                   เมื่อผมออกมาจากโคเออร์นั้น พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ท่านได้เรียกผมให้มาช่วยงานในสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในระยะแรก ผมมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความร่วมมือ ทางความสัมพันธ์ระดับชาติ มีหน้าที่ในการประสานงานกับองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงต่างๆ และองค์กรอื่นๆ แต่ตำแหน่งในปัจจุบันจะอยู่ที่สำนักเลขาธิการ สภาพระสังฆราชฯ ฝ่ายต่างประเทศและการแปล แต่ก็ยังคงทำงานด้านความร่วมมือทางความสัมพันธ์ระดับชาติอยู่ด้วย แล้วยังเป็นที่ปรึกษาของ คณะอนุกรรมการเพื่อความมั่นคงของศาสนาซึ่งเป็นของรัฐสภาด้วย  งานแปลชิ้นสำคัญๆ ของผมจะเป็นงานแปลพระสมณสาส์นของพระสันตะปาปา ฉบับต่างๆ นอกจากนี้ยังเขียนและแปลบทความลงคอลัมน์ในหนังสืออุดมสาร ใช้นามปากกาว่า ว. ประทีป 

ฝากไว้สำหรับคนรุ่นหลัง

                   ในระยะแรกๆ ที่ผมออกจากบ้านเณร ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ แต่เมื่อได้มองย้อนกลับไปอีกครั้ง  ผมกลับไม่รู้สึกเสียใจเลย เพราะทุกๆ อย่างนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า มีคำกล่าวว่า "หลายๆ คนได้รับเรียก แต่มีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่ถูกเลือก" การเป็นพระสงฆ์จึงไม่ใช่เราที่เป็นผู้เลือก  ยิ่งผมได้คลุกคลีกับเอกสารต่างๆ ของพระศาสนจักร ยิ่งทำให้ผมเข้าใจว่า  พระพรของการเป็นสงฆ์นั้น เป็นพระพรที่พระเจ้าทรงให้เราเปล่าๆ คือพระเจ้า เป็นผู้ประทานให้กับผู้นั้น ไม่ใช่เราที่เป็นผู้สมควรจะได้รับ และก็ขึ้นอยู่กับ แต่ละคนว่าจะรักษาพระพรนั้นได้หรือไม่  ผมมองว่า  การเป็นพระสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตรนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การปรับตัว ให้เข้ากับยุคสมัยหรือการเป็นผู้อภิบาลจิตวิญญาณในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ กระแสสมัยใหม่มันโถมกระหน่ำไม่ใช่แต่กับฆราวาสเท่านั้น กับพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น การอยู่ในโลกแต่ไม่เป็นคนของโลกจึงเป็นเรื่องยากมาก  พระสงฆ์ต้อง ชิดสนิทกับพระอย่างแท้จริง เป็นพระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง ถ้าไม่เช่นนั้น อีกไม่ช้า ก็จะหลุดไปตามกระแสของโลกอย่างแน่นอน เพราะกระแสของโลกในสมัยใหม่ แรงมาก ผมยังนึกขอบคุณพระเจ้าที่ผมไม่ได้เป็นพระสงฆ์ เพราะหากผมเป็น พระสงฆ์ ผมก็ไม่รู้ว่าตนเองจะสามารถเป็นพระสงฆ์ที่ดีได้หรือไม่  คิดว่าสิ่งที่พระ ประทานให้เราเป็นอย่างนี้ก็ดีที่สุดแล้ว เราก็สามารถรับใช้พระศาสนจักรไปตาม พระพรและความสามารถที่เรามี   ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระสงฆ์ แต่ผมก็อยากตอบแทนน้ำพระทัยของพระ ผมเป็นประธานสภาอภิบาลวัดแม่พระฟาติมา ดินแดง ผมแปลเอกสารคู่มือสภาอภิบาลวัด  แล้วผมก็ยังเป็นประธานชมรมสภาอภิบาลวัดของอัครสังฆมณฑล กรุงเทพฯ คนแรกด้วย ในระยะนั้น ผมร่วมงานกับคุณพ่อเป็นทีมที่คอยไปบรรยาย เกี่ยวกับบทบาทของฆราวาสในงานอภิบาลวัดทั่วประเทศ เพราะในสมัยนั้น พระสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้เน้นถึงบทบาทของฆราวาส ซึ่งในสมัยก่อน ทุกๆ อย่างขึ้นอยู่กับพระสงฆ์เท่านั้น ทีมของเราได้ไปอธิบายให้สัตบุรุษเข้าใจถึง เรื่องเหล่านี้ สรุปก็คือ ด้วยความสำนึกว่าผมจะต้องตอบแทนพระพรที่ได้รับ จากพระ ผมจึงช่วยงานต่างๆ ของพระศาสนจักรมาตั้งแต่แรกๆ

                   พระเจ้าทรงอวยพรชีวิตของผมผ่านทางชีวิตครอบครัวด้วยเช่นกัน ภรรยา ของผมเป็นคนเชื้อสายจีน นับถือศาสนาพุทธ แต่ปัจจุบันได้รับศีลล้างบาปเป็น คริสตชนแล้วด้วยความศรัทธาของเขาเอง เรามีลูกด้วยกันสี่คนแต่ไม่มีคนไหน เข้าบ้านเณร เรายังมีหลานๆ ด้วย แต่ผมคิดว่าหากส่งหลานๆ เข้าบ้านเณร คงอยู่ไม่ได้แน่ๆ เพราะเด็กสมัยนี้เติบโตมาจากการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างจะสบาย แต่ผมก็ได้ยินว่าบ้านเณรเองก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน มีหลายสิ่งที่แตกต่าง ไปจากสมัยของผม

                   สิ่งที่อยากฝากสามเณรรุ่นหลานคือ ขอให้มีความศรัทธามาก ๆ โดยเฉพาะ ต่อศีลมหาสนิท ต่อแม่พระ และใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามาก ๆ หัวใจทุกคน ต้องมีความรัก สงฆ์ต้องรักพระ ต้องอุทิศชีวิตเพื่อวิญญาณ  สงฆ์ไม่อาจรักคน วัตถุ และความสะดวกสบาย มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นสงฆ์ที่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรัก และใกล้ชิดกับพระมากที่สุด