สนธิ สารธรรม จาก เศษ หิน ดิน ทราย
สนธิ สารธรรม
เกิด 
                   12  พฤศจิกายน 2480
เข้าบ้านเณร         ปี พ.ศ. 2493
การศึกษา           โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก สมุทรสงคราม
                         ซานจูลีอาโนคอลเลจ เวโรนา อิตาลี
ปัจจุบัน             -  อาจารย์สอนวิชาภาษาอิตาเลียน โรงเรียนสารสาสน์พิทยา
                        -  คอลัมน์นิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

          ผมได้รับศีลล้างบาป เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1944 ขณะมีอายุ 7 ปี ที่วัดท่าหว้า โดยมีคุณพ่อหลุยส์เป็นผู้โปรดศีลฯ อันที่จริงผมเกิดที่ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ไม่ได้รับศีลล้างบาปตอนเกิดใหม่ๆ เพราะบ้านอยู่ไกลวัด พออายุได้ 6 ปี ครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ท่าเรือซึ่งอยู่ในความดูแลของวัด ท่าหว้า ยังจำได้ว่าต้องไป พักที่บ้านของครูคำสอน ทวี สังขรัตน์ เพื่อจะได้เรียนคำสอนในฐานะที่รับศีล ล้างบาปตอนโต จำไม่ได้ว่าพักอยู่นานเท่าไร กินข้าวหมดไปกี่ถัง แล้วครูทวียังเป็น พ่อทูนหัวในคราวผมรับศีลล้างบาปด้วย จึงพยายามเลียนแบบฉบับแห่งความ ศรัทธาต่อพระของครูทวีมาตลอด และยังระลึกถึงบุญคุณที่ได้ให้ทั้งอาหาร กายและใจเสมอมา ตอนที่มาเรียนคำสอนที่วัดท่าหว้า ยังจำเด็กรุ่นเดียวกันได้  หลายคน เช่น บุญล้อม (สังขรัตน์) เหลียง แมว พร พยนต์ เป็นต้น

เด็กช่วยมิสซาคนแรกของวัดท่าเรือ
         แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเข้าบ้านเณรนั้นมาจากว่า ในสมัยก่อนท่าเรือ ยังไม่มีวัดคาทอลิกเพราะมีคริสตังเพียง 4 ครอบครัว  ผมเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์  “อุดมพันธ์” จึงจำได้ดีว่ามีครอบครัวนายจิว (ขายหมู) ครอบครัวเจ๊มณี ครอบครัว ป้าสละสามีทำงานโรงสี และครอบครัวของผมเอง คุณพ่อหลุยส์จะไปทำมิสซา ที่ท่าเรือทุกวันศุกร์ต้นเดือน โดยใช้บ้านของป้าสละเป็นที่ทำมิสซา ส่วนผมนั้นถือเป็น เด็กช่วยมิสซาคนแรกของวัดท่าเรือ สมัยเด็กนั้นการช่วยมิสซาต้องโต้ตอบ
กับพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีด้วยภาษาละติน จึงรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ใช้ภาษาฝรั่ง และรู้สึกโก้เอามากๆ ที่ได้แต่งชุดช่วยมิสซา เด็กช่วยมิสซาจะมีบทบาทมาก เพราะต้องพูดตอบรับกับพระสงฆ์ให้ได้ แต่เรื่องสำเนียงก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็ท่องจำไปเรื่อยตามประสาเด็กๆ แล้วการที่เราได้เป็นเด็กช่วยมิสซาก็ทำให้เรา ได้คลุกคลีอยู่กับพระสงฆ์ตลอดเวลา ในสมัยนั้นก็คือคุณพ่อหลุยส์ ที่มาจาก วัดท่าหว้า แต่ในตอนหลังวัดท่าเรือได้เปลี่ยนไปขึ้นกับวัดท่าม่วงแทน จึงมีคุณพ่อ มาริงโกนี ซึ่งคุณพ่อท่านนี้นี่เอง ที่เป็นผู้สนับสนุนผมให้เข้าบ้านเณร 

          ผมเองได้มีโอกาสสัมผัสกับเณรก่อนที่จะได้เข้าบ้านเณรเสียอีก เนื่องจาก ตอนนั้นบรรดานักบวชคณะซาเลเซียนจะต้องไปเข้าเงียบที่หัวหิน คุณพ่อ
มาริงโกนี ท่านก็ไปเข้าเงียบด้วยเช่นกัน ท่านจึงได้พาผมไปด้วย ในขณะนั้น
คุณพ่อที่บ้านเณรก็พาเณรไปพักผ่อนที่หัวหินเป็นเวลาประมาณเดือนกว่าๆ ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผมได้รู้จักและได้สัมผัสกับพวกเณร แล้วคุณพ่อมาริงโกนี ท่านก็ส่งผมเข้าบ้านเณร

เมื่อครั้งยังเป็นเณรที่บางนกแขวกเริ่มเข้าบ้านเณร
          ผมได้เข้าเป็นเณรตั้งแต่ชั้น ม.1 โดยมีคุณพ่อของคณะซาเลเซียน เป็นผู้ดูแลเณร คุณพ่ออธิการก็คือ คุณพ่อโปรเวรา มีคุณพ่อศึกษาเป็น พระสงฆ์พื้นเมือง คือคุณพ่อกิมเฮียง (สมกิจ นันทวิสุทธิ์) สิ่งที่เน้นมากใน สมัยนั้น คือ การเรียน โดยเฉพาะ การเรียนภาษาละติน มีคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ เป็นอาจารย์สอนภาษา
ละติน แล้วก็ยังมีเรื่องการขับร้อง แต่ส่วนตัวผมเองนั้นไม่ค่อยจะมีพรสวรรค์ ทางด้านการร้องเพลงซักเท่าไหร่ เวลาร้องเพลงผมก็จะโดนว่าอยู่เสมอๆ  เพราะว่า เสียงที่ไม่ค่อยเข้ากับเสียงของชาวบ้าน ผมอยู่บ้านเณรจนถึงชั้น ม.6 ในปีที่เจ็ด ก็ได้เรียนปรัชญาพร้อมๆ กับคุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์  คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพย์อาสน์ และคุณวิสุทธิ์  กิจเจริญ  และสอนภาษาละตินไปด้วย

ความใฝ่ฝันของเด็กคนหนึ่ง
           ในสมัยที่ผมเป็นเด็กซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารฝ่าย สัมพันธมิตรที่เดินทางมาด้วยเรือโยง ขึ้นฝั่งเพื่อมาเที่ยว หรือพักผ่อน ผมได้เห็น คุณครูที่สอนผมซึ่งเพิ่งจบ ม. 6  มาใหม่ๆ จากโรงเรียนแถวบ้านโป่ง เข้าใจว่าคงจบจากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ท่านสามารถพูดคุยกับฝรั่งได้ ทำให้ผม 
รู้สึกประทับใจในตัวครูผู้นี้มาก จึงใฝ่ฝันว่าจะต้องเรียนให้สูงๆ เข้าไว้ จะได้ พูดภาษาฝรั่งได้ จากจุดนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นในการฝึกภาษา พออยู่ที่บ้านเณรผมจะชอบเข้าไปพูดคุยกับบราเดอร์ชาวต่างชาติที่เพิ่งเข้ามา อยู่ใหม่ๆ ความจริงแล้วผมเองออกจะเป็นคนที่ขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เสียด้วยซ้ำ แต่ก็โดยอาศัยการฝึกฝนและรวบรวมความกล้า จึงทำให้ในที่สุด ความฝันสมัยเด็กๆ ก็เป็นจริงได้ไม่ยากนัก หากตั้งใจจริง 

            พูดถึงเรื่องการเรียน ผมนึกถึงเรื่องขำขันในสมัยที่เรียนชั้นมัธยม พวกเรา ได้สร้างวีรกรรมเอาไว้ คือพวกเณรจะต้องไปเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียนนอก (หมายถึง นักเรียนที่เดินทางไปกลับ และที่อยู่ประจำแต่ไม่ได้เป็นเณร) ที่ฝั่งโรงเรียน ดรุณานุเคราะห์ ในวิชาภาษาอังกฤษนั้นมีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ซึ่งใน สมัยนั้นยังเป็นคุณพ่อเป็นอาจารย์สอน มีอยู่วันหนึ่งซึ่งเป็นวันศุกร์ โดยปกติ อาจารย์ (คุณพ่อบุญเลื่อน) มักจะให้การบ้านกับนักเรียนเยอะเป็นพิเศษ แต่บรรดา นักเรียนนั้นก็อยากจะไปเที่ยวเล่นในวันหยุดตามประสาเด็กๆ เพื่อน นักเรียนนอก คนหนึ่งชื่อไกรสุข (ปัจจุบันคือ พลตำรวจเอก ดร.ไกรสุข สินศุข อดีตรองผู้ บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ได้เป็นผู้นำในการวางแผนการอันแยบยล เพื่อคุณพ่อจะได้ให้การบ้านเราน้อยๆ โดยการจัดอวยพรวันเกิดให้กับคุณพ่อ เมื่อถึงเวลาที่คุณพ่อเข้ามาในชั้นเรียน พวกเราก็ร้องเพลง Happy BirthDay กันเสียงดังสนั่น แล้วคุณไกรสุขก็เดินอาดๆ ไปหน้าชั้นพร้อมเปิดปกกระดาษ ขนาดฟุลสแก๊ปที่หน้าปกวาดรูปดอกไม้สวยงามไม่ผิดกับนักเรียนวิจิตรศิลป์ โดยมีเพื่อนเณรของเราเป็นคนวาด ปัจจุบันคนๆ นั้นก็คือคุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ (อดีตอธิการสามเณราลัยแสงธรรม) นั่นเอง เพราะท่านมีความสามารถ ทางด้านศิลปะ พอคุณไกรสุขอ่านสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษที่ไพเราะเพราะพริ้ง
(จากการร่างสุนทรพจน์ของผม) เสร็จ  คุณพ่อบุญเลื่อนก็ตบมือด้วยความเบิกบาน ดีใจที่ลูกศิษย์ช่างกลั่นกรองคำพูดที่สละสลวยไพเราะจับใจ ด้วยความดีใจจึง พูดคุยกันแต่เรื่องสนุกๆ จนหมดเวลา แล้วคุณพ่อก็ไม่ได้ให้การบ้านพวกเรา เป็นอันสำเร็จแผนการอันแยบยลของนักเรียน  แต่ในความสำเร็จนี้มันมีอะไร แอบแฝงมากกว่านั้น (ต้องแหกกฎหลายข้อ) เพราะว่าในสมัยนั้นนักเรียนเณรไม่ได้ รับอนุญาตให้พูดคุยกับนักเรียนนอกเลย ถึงแม้ว่าจะนั่งเรียนอยู่ด้วยกันก็ตาม แต่พวกเณรอย่างเราก็ค่อนข้างจะออกไปทางสังคมจัดซักหน่อย ดังนั้นกฎ ที่ว่านี้จึงไม่มีใครในพวกเราที่ถือปฏิบัติอย่างจริงจังซักเท่าไหร่

เณรไทยคนแรกของคณะคามิลเลียน
             หลังจากจบ ม.6 แล้ว ผมเรียนปรัชญาอยู่หนึ่งปี ในระหว่างปีนั้นผมมีปัญหา ทางด้านสุขภาพจึงจำเป็นต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลของคณะคามิลเลียน ที่บ้านโป่งอยู่เสมอๆ จึงเกิดความรู้สึกชอบคณะนี้ซึ่งทำงานกับคนป่วย  ทั้งที่ตอนนั้น คณะคามิลเลียนเองก็ยังไม่ได้เปิดรับผู้ฝึกหัด(เณร)เลย หลังจากที่ผมมีความคิดนี้ จึงได้ไปพบพระสังฆราชคาเร็ตโต แล้วพูดคุยกับท่านเรื่องความสนใจในคณะ คามิลเลียนของผม พระคุณเจ้าท่านให้ผมกลับไปสวดภาวนาและพิจารณา ให้ถี่ถ้วนก่อน แล้วอีกหนึ่งปีถ้ายังมีกระแสเรียกอยู่ท่านก็จะอนุญาต หลังจากที่ผม กลับมาพิจารณาแล้วพอครบกำหนดจึงได้ไปเรียนท่าน แล้วท่านก็อนุญาตให้ผม ย้ายคณะได้ ผมจึงได้ไปสมัครเป็นเณรของคณะคามิลเลียน จัดได้ว่าผมเป็น เณรไทยคนแรกของคณะคามิลเลียน และเนื่องจากที่ประเทศไทยยังไม่มีบ้าน สำหรับอบรมเณร ผู้ใหญ่ของคณะจึงได้ส่งผมไปเรียนที่อิตาลี การใช้ชีวิตที่นั่น ลำบากมาก สี่ปีไม่ได้พูดภาษาไทยเลย แต่สถานการณ์ก็บังคับให้เราจำเป็นที่จะต้อง พูดภาษาอิตาเลียน ซึ่งเราก็สามารถพูดได้ แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องการเรียนก็ยาก ลำบากมาก เพราะไม่เคยรู้ภาษาอิตาเลียนมาก่อน การเรียนจึงเป็นแบบที่ต้องคอย ตามเขาอยู่ตลอด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท้อใจคิดอยากกลับบ้าน พอดีกับ ช่วงจังหวะนั้นคุณพ่อคาร์ลีที่ส่งผมไปเรียน ท่านกลับมาเยี่ยมบ้านที่อิตาลี และเป็น ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเสด็จไปที่กรุงโรม  คุณพ่อจึงได้พาผม
ไปที่กรุงโรมด้วย พอไปแล้วก็ได้พบกับบรรดาเณรไทย ได้พบปะพูดคุยกัน ทำให้รู้สึกว่าการได้พูดภาษาไทยนั้นเป็นอะไรที่หอมหวานมาก และในที่สุดจึงได้ ขอกลับเมืองไทย

จากไกด์ สู่ต้นตำรับ  “ทัวร์แสวงบุญ”
            กลับเมืองไทยคุณพ่อคาร์ลีจะพาไปฝากทำงานสายการบิน ALITALIA แต่เพื่อนรุ่นพี่ชื่อปิยะ แซ่เจ็ง ที่ทำงาน AIR FRANCE ในออฟฟิศของ World Travel Service  แนะนำให้เป็นไกด์เพราะเห็นว่าสามารถพูดได้หลายภาษา   บริษัทเวิลด์ทราเวลเซอร์วิส ถือเป็นบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำของไทยในสมัย 46 ปี ที่แล้ว ของคุณกุศะ ปันยารชุน   เท่ากับว่าการที่ผมไปอยู่อิตาลีมาสี่ปี อย่างน้อยที่สุด ผมก็ได้ใช้ภาษา ซึ่งในสมัยนั้นวงการท่องเที่ยวเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้ภาษา อิตาเลียน จึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก และจากการเป็นไกด์ยังทำให้ผมได้ภาษา สเปนมาอีกหนึ่งภาษาด้วย เพราะมีความใกล้เคียงกันมากกับภาษาอิตาเลียน ว่ากันว่าภาษาละตินเป็นเสมือนแม่ที่มีลูก 3 คนคือ ภาษาอิตาเลียน สเปน และ ฝรั่งเศส พอมีคณะทัวร์ที่ต้องใช้ภาษาสเปน ผู้ใหญ่จะมอบหมายหน้าที่นี้ให้ผม ซึ่งผมก็พอจะถูๆ ไถๆ ไปได้ จากนั้นผู้ใหญ่ก็ได้ส่งผมไปสเปนถึงสามครั้ง เพื่อจะได้ สามารถพูดได้คล่องขึ้น รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากช่วงนี้ เพราะหลังจากนำเที่ยวก็พา ลูกทัวร์ไปช๊อปปิ้ง แล้วส่วนใหญ่คนอิตาเลียนที่มาก็จะเป็นพวกดีไซน์เนอร์ พวกพ่อค้าที่ตั้งใจจะมาซื้อหาอัญมณี แล้วทางร้านอัญมณีก็จะให้เปอร์เซ็นต์ กับไกด์ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามให้ ในภายหลังมีคนเปิดร้านจิวเวลรี่แล้วได้ชวนผม ไปเป็นหุ้นส่วนด้วย ผมจึงเป็นทั้งไกด์และพ่อค้าในเวลาเดียวกัน พูดได้ว่าเริ่มก่อร่าง สร้างตัวได้ในช่วงนี้นี่เอง เป็นไกด์อยู่ประมาณ 14  ปี  จากนั้นก็ออกมาเปิดกิจการ นำฝรั่งเที่ยวเมืองไทยได้พักหนึ่ง แล้วหันมาทำการค้าเพชรพลอย เพราะมีโอกาส ได้รู้จักพ่อค้าเพชรพลอยหลายคน ได้เปิดร้านจิวเวลรี่ที่ถนนเกสร หน้าโรงแรม เปรสสิเด้นท์ ชื่อร้านโฮเยเรีย เทเรซา (JOYERIA TERESA ) ที่สุดก็ลองมาจับ งานด้านการส่งออกอยู่ระยะหนึ่งแต่ไม่เวิร์ค  พอดีคุณพ่อวิโรจน์  อินทรสุขสันต์ ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาของผม ท่านบวชครบ 25 ปี ท่านปรารถนาที่จะไปแสวงบุญ
ที่ต่างประเทศและต้องการที่จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นท่านเพิ่งจะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาเพียง 1-2 ปี จากที่ผม เคยเป็นไกด์ภายในประเทศ ก็พอที่จะรู้จักช่องทางหรือวิธีการในการจัดทัวร์ จึงอาศัยตรงจุดนี้ในการติดต่อประสานงานเรื่องต่างๆ และวางแผนในการจัดทัวร์ แสวงบุญ จากจุดนี้ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า การจัดทัวร์นี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เพราะเราก็มีความสามารถและรู้เรื่องต่างๆ มากกว่าคนอื่นๆ คอยอธิบายประวัติ นักบุญต่างๆ เรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ในช่วงแรกๆ ต้องทำงานหนักเหมือนกัน เพราะผมเองก็ต้องคอยฟังจากสิ่งที่พระสงฆ์หรือไกด์ที่จ้างมา พอเขาพูดผมก็แปล แล้วภรรยาก็จะคอยจำสิ่งที่ผมแปล จนในที่สุดก็เป็นภรรยาของผมที่จะคอยอธิบาย เรื่องราวต่างๆ เพราะภรรยาของผมมีความสามารถทางด้านการพูดมากกว่าผม จึงจัดได้ว่าการจัดทัวร์ต่างประเทศ ในรูปแบบของการแสวงบุญที่เห็นกันใน ทุกวันนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากจุดนี้หรือมาจากผมนั่นเอง เพราะก่อนหน้านี้ ถ้าจะ มีการไปแสวงบุญต่างประเทศ ก็จะมีเพียงบรรดาพระสงฆ์ที่รวบรวมไปกันเอง แต่ของผมจะมีการจัดการที่เป็นกิจลักษณะ และถือเป็นความโชคดีเพราะหลัง จากที่จัดไปครั้งแรกนั้นแล้วก็บังเอิญในปีถัดไปนั่นเอง คุณพ่อวิโรจน์ ซึ่งกำลัง เรียนอยู่ที่กรุงโรมเพื่อเตรียมตัวจะมาเป็นอธิการบ้านเณร ท่านได้โทรมา บอกข่าวดีว่า ประเทศไทยของเรากำลังจะมีพระคาร์ดินัลแล้ว ซึ่งก็คือพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู นั่นเอง ผมเองก็มาคิดว่า “งานเข้าแล้วละสิคราวนี้” แต่ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่มั่นใจนัก เพราะว่ายังมือใหม่อยู่ และอีกอย่างก็คือ ยังไม่แน่ใจว่าจะทำด้านนี้แน่นอน เพราะเป็นไกด์ก็รายได้ดีกว่า ส่วนธุรกิจ ร้านจิวเวลรี่ตอนนั้นหุ้นส่วนก็เลิกรากันไป แต่ผมเองมีร้านอยู่หน้าโรงแรม เปรสสิเด้นท์ ถนนเกสร เรื่องการจัดทัวร์ครั้งนี้ ก็เลยคิดเพียงว่าช่วยพระศาสนจักร ซักครั้งหนึ่ง เพราะในเมื่อพระสังฆราชไทย ได้เป็นพระคาร์ดินัล คิดว่าอย่างน้อย ที่สุดเท่าทุนก็ยังดี โดยการคิดราคาถูกที่สุด ไปอยู่ที่โรมประมาณสี่ห้าคืน ช่วงนั้นที่ร้านจิวเวลรี่มีผู้คนมากมายมาติดต่อเรื่องทัวร์ ถึงขนาดที่ว่าไม่เป็นอัน ขายของกันเลยทีเดียว ตอนแรกคิดไว้ว่าจะจัดไป 40 ที่ แต่ก็ยังมีผู้มาติดต่อ
อยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดมีคนไปทั้งสิ้นประมาณ 300 กว่าคน จึงทำให้ผมเป็นที่รู้จัก
ในการจัดทัวร์แสวงบุญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วผมก็ยังทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันผมต้องไปสอนภาษาอิตาเลียนให้กับโรงเรียนสารสาสน์พิทยา ของอาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล  จึงทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้ไป นอกจากช่วงปิดเทอม ที่ไม่มีภาระหน้าที่ไปสอนเรียน ดังนั้นสรุปได้ว่าธุรกิจการจัดทัวร์ก็ได้เริ่มตั้นตั้งแต่ ครั้งที่จัดไปงานแต่งตั้งพระคาร์ดินัลนั่นเอง

          ผมเป็นเจ้าของทัวร์และนำทัวร์เองพร้อมภรรยาตั้งแต่ปี 1982 จนถึงปี  2008  เป็นเวลาถึง  26  ปี  ทัวร์ที่นำก็เป็นทัวร์แสวงบุญและท่องเที่ยวควบคู่กันไป เช่น แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อียิปต์  ตุรกี รัสเซีย และยุโรป ที่พลาดไม่ได้คือกรุงโรม เพื่อเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาและเยี่ยมแม่พระที่สักการสถานเมืองลูร์ดและฟาติมา
เมื่อคราวนำทัวร์ไปแสวงบุญที่ยุโรปครั้งแรกก็มีลูกทัวร์ระดับ VIP อยู่ 3 ท่าน คืออาจารย์พิบูลย์  ยงค์กมล  รุ่นพี่ผม  2  ปี  และอาจารย์เพ็ญศรี  ยงค์กมล  ท่านทั้งสองคอยช่วยเหลือ และให้กำลังใจตลอด เพราะเห็นเป็นทัวร์ลีดเดอร์มือใหม่  ยิ่งตอนที่เห็นลูกทัวร์ถือใบต่างด้าวเข้าประเทศโปรตุเกสไม่ได้ หัวหน้าทัวร์หัวเสีย ต้องโทรให้เอเย่นต์เอารถมารับไปส่งกรุงมาดริด สเปน สามวันให้หลังก็ได้พบ ลูกทัวร์คนนี้มายืนยิ้มรอที่หน้าโรงแรมก็เลยหายเครียด ตกค่ำตอนอาหารเย็น เจ๊อ้วนไปช๊อปปิ้งจนเพลิน พลัดหลงจากกรุ๊ปทัวร์ หัวหน้าทัวร์เครียดหนัก ขึ้นอีก เพราะเจ๊อ้วนพูด อังกฤษไม่ได้สักคำ แต่ที่ สุดกลางมื้อค่ำ เจ๊อ้วนก็ ปรากฏโฉม อาจารย์พิบูลย์ เลยสั่งไวน์มาเลี้ยงแก้เครียด หัวหน้าทัวร์ไม่เครียดหรอก เพราะผมเมาจนภรรยาต้องประครองขึ้นรถ ผมแทบจะลืมเรื่องดื่มไวน์เกินขนาดไปแล้ว  เพราะลูกทัวร์ต่างก็อยากให้ หัวหน้าทัวร์หายเครียด ฯลฯ แต่คราวไปชุมนุมศิษย์เก่า ที่แหลมผักเบี้ย เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมานี้ (ปี พ.ศ. 2552) อาจารย์พิบูลย์ได้เชิญให้พักที่บ้านของท่าน


             ขณะกำลังนั่งรับลม อาจารย์เพ็ญศรีก็ถามถึงเรื่องการดวลไวน์ที่สเปนคราวนั้น ผมยังนึกไม่ออกนัก แต่ที่สุดก็หน้าแดงด้วยความขวยเขิน สารภาพว่านั่นเป็นการ เมาครั้งแรกในชีวิต และคิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย VIP อีกท่านหนึ่ง คือ คุณสุพิศ สินศุข ภรรยาของ พล.ต.อ.ดร.ไกรสุข สินศุข ซึ่งสนิทสนมกับผมเป็นพิเศษจึงฝากภรรยาซึ่งเป็นชาวพุทธไปแสวงบุญกับพวกเรา นอกจากคุณไกรสุขแล้วผมยังมีเพื่อนชาวพุทธอีกคนคือ พล.อ.กำพล วังแก้ว คุณกำพลได้แนะนำให้ผมจัดทัวร์ไปสวิตเซอร์แลนด์ 3 ครั้ง และสเปน 1 ครั้ง เพื่อไปฝึกวิชาพลังจักรวาล เดี๋ยวนี้คุณกำพลสามารถรักษาโรคได้โดยใช้มือสัมผัส และรักษาทางไกลก็ได้
เมื่อโรงเรียนสารสาสน์พิทยาฉลองครบ  40  ปี  อาจารย์พิบูลย์ยังได้เมตตา ให้ผมจัดทัวร์เพื่อนำครูชาวคริสต์ไปแสวงบุญประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี โดยท่าน ออกค่าทัวร์ให้บรรดาครูครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งครูก็สามารถผ่อนส่งได้ด้วย

คอลัมน์นิสต์ และหนังสือเกี่ยวกับ นอสตราดามุส
              เมื่อคราวเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ผมมีโอกาสได้อ่านคำทำนายของ นอสตราดามุสที่เพื่อนชาวอิตาเลียนและชาวสเปนส่งมาให้ รู้สึกสะเทือนใจ ที่นอสตราดามุสทำนายถึงการถูกฆาตกรรมของพระสันตะปาปา พระองค์จะต้อง หนีไปจากกรุงโรม  จะเกิดความปั่นป่วนในพระศาสนจักร จะเกิดสงครามโลก         ครั้งที่  3  คริสตังจะต้องถูกเบียดเบียนครั้งใหญ่ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เช่นคริสตังเดิม  แอนตี้ไคร้สต์จะครองโลก และมันจะบังคับให้พระสงฆ์เลิกทำมิสซา แล้วคริสตัง จะทิ้งความเชื่อกันเกือบหมด ในที่สุดจะเกิดมหาภัยพิบัติ จนถึงการสิ้นยุค ผมรู้สึกว่าจะอยู่เฉยไม่ได้เสียแล้ว จึงได้แปลคำทำนายของนอสตราดามุส ใช้ชื่อเรื่องว่า “ชนวนสงครามล้างโลก” ให้ดวงกมลเป็นผู้จัดจำหน่าย ก็ขายดี พอสมควรเพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้ เปลว สีเงิน เชิญไปเขียนบทความหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ทุกวันอังคารในหัวเรื่อง “เปิดพระคัมภีร์ผสานลีลา นอสตราดามุส” นับเป็นกระแสเรียกอย่างหนึ่งที่ผมจะทำให้พระนามของพระเจ้า ได้รุ่งเรืองไป ผมจึงกลายเป็นหนอนหนังสือไปโดยปริยาย ทำให้ต้องศึกษา
พระคัมภีร์มากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือวิวรณ์ที่พูดถึงยุคต่างๆ ของพระศาสนจักร รวมไปถึงวาระสุดท้ายของโลกด้วย พวกเราคริสตังมักไม่ค่อยรู้เรื่องวิวรณ์เท่าไหร่ พระสงฆ์เองก็ไม่ส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้เรื่องนี้เท่าไหร่นัก  ผมก็ไม่ทราบเหตุผล เหมือนกัน
พอเขียนบทความให้สยามโพสต์ ราว 3-4 ปี หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็มีปัญหา คุณเปลว สีเงิน ก็ออกไปตั้งหลักอยู่พักหนึ่งแล้วจะเปิดหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง ผมจึงถือโอกาสจะแปลนอสตราดามุสภาคสอง แต่ในขณะนั้นเอง หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ  ได้มาเชิญให้เขียนบทความในหมวด  จุดประกาย  ผมจึงได้เขียน บทความในหัวเรื่อง  “เกาะติดวิกฤตโลกผ่านพระคัมภีร์และนอสตราดามุส” เนื้อหาที่เขียนก็เหมือน ๆ เดิม คือ การตีความคำทำนายหนังสือวิวรณ์โดยคุณพ่อ มาร์ตีโน  เปนาซา (Martino Penasa)  อธิการมหาวิหารนักบุญอันตน ปาดัว อิตาลี  นอกจากนี้ยังใช้ข้อความคำทำนายที่ได้จากผู้ได้รับพรพิเศษจากเบื้องบน อาจเป็น พระเยซู แม่พระ หรือเทวดา คำทำนายประเภทนี้เรียกว่า Private Revelation  ส่วน Public Revelation  ก็ได้แก่คำทำนาย หรือการเปิดเผยจากพระเจ้าผ่าน ทางประกาศก หรือจากปากของพระเยซูเจ้าเอง ผ่านผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่

                เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ที่สะท้านสะเทือนไปทั่วโลก ผู้ก่อการร้ายอาหรับ ขับเครื่องบินถล่มตึกสูง World Trade Center ณ กรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 ผมถูกขอร้องจากคุณเปลว สีเงิน ผู้ซึ่งเปิดหนังสือพิมพ์ของตนเอง ได้ไม่นานชื่อ ไทยโพสต์  จึงต้องลาออกจากกรุงเทพธุรกิจ ที่คุณเปลวพยายาม ดึงผมกลับมาเขียนให้ไทยโพสต์เพราะ “นอสตราดามุส” ของผมสามารถดึงดูด ผู้อ่านได้ดีทีเดียวตั้งแต่สมัยอยู่กับสยามโพสต์ ผมจึงกลับมาอยู่กับคุณเปลว ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน 

ทำอะไรทำจริง (Age quod agis)
              พอผมอายุขึ้นเลข 7 ก็ได้ปรารภกับอาจารย์พิบูลย์ว่า เมื่อเลิกจัดทัวร์ก็จะมี แต่งานเป็นคอลัมน์นิสต์ให้หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  เวลาไปวัดในวันอาทิตย์ เวลาพูดคุยกับเพื่อนๆ ชักมีอาการติดๆ ขัดๆ ไม่คล่องแคล่วเหมือนเคย
คือมักจะเอ้อ ๆ อ้าๆ อาจารย์พิบูลย์แนะนำว่าต้องถือโอกาสพูดบ่อยๆ กับใครก็ได้ ก็มาลงเอยที่ว่า เป็นครูดีที่สุด ผมเลยไปเสนออาจารย์พิบูลย์ว่าจะให้ผมไปสอนเด็กๆ ก็ได้  จะเป็นภาษาอิตาเลียน  อังกฤษ และสเปน หรือประวัติศาสตร์ยุโรป  แต่ถ้า ให้เลือกอยากสอนภาษาอิตาเลียนที่สุด  เพราะใช้ภาษานี้มา 50 ปีแล้ว และยังใช้ อยู่เสมอ  ทางสถานทูตยังเรียกใช้ให้เป็นล่ามอยู่บ่อยๆ  หลังจากนั้นสัก 2 เดือน อาจารย์พิบูลย์ก็เชิญให้ไปสอนภาษาอิตาเลียน ผมดีใจเป็นที่สุดเพราะไม่ต้อง เตรียมตัวมากเหมือนสอนประวัติศาสตร์

              ผมมีความสุขมากที่สุดในการสอนเด็กๆ ทำให้มีชีวิตชีวาดีทีเดียว และจะ ขอยึดมั่นคติพจน์จากพระคัมภีร์ “Age quod agis.” “ทำอะไรทำจริง” เป็นคำแปลที่อาจารย์พิบูลย์ได้รับรางวัลที่ 1 ส่วนครูบุญล้อมได้รางวัลที่ 2 ซึ่งแปลว่า “หน้าที่ต้องเป็นหน้าที่”  จำไม่ได้ว่าใครได้รางวัลที่ 3  ส่วนผมนั้นไม่เจียมตัวว่าเป็น เด็กเพิ่งหัดเดิน ไปแข่งขันกับเขาด้วย  แม้รางวัลชมเชยก็ยังไม่ติด

              เมื่อผมมองย้อนกลับไปในสมัยที่ผมเป็นเณรนั้น มีผู้ให้การอบรมเป็นพระสงฆ์ ชาวต่างชาติ เป็นระบบการอบรมตามแนวทางของคุณพ่อบอสโก เรียกว่า การอบรม ระบบป้องกัน ผมคิดว่ามีความเคร่งครัด เพราะคุณพ่อจะคอยดูแลพวกเราอย่าง รัดกุมและระแวดระวัง ผมจึงมองเห็นความแตกต่างกับเณรในสมัยหลังๆ อย่างเช่นในสมัยหนึ่งที่เณรไปเรียนที่โรงเรียนดรุณาราชบุรีพาณิชยการ แล้วมีการ เรียนลีลาศที่จำเป็นจะต้องเต้นกับเพื่อนนักเรียนนอกที่เป็นผู้หญิง ผมก็รู้สึกว่า มันไม่เหมือนในสมัยผม เห็นแล้วก็รู้สึกขำดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามผู้ใหญ่และกฎระเบียบที่วางไว้ ส่วนช่วงที่เป็นเณรที่ต่างประเทศนั้น ก็ไม่ได้เคร่งครัดมากมาย แต่พวกเราก็อยู่ในระเบียบ จะว่าไปมันก็มีความแตกต่าง กันทางวัฒนธรรม อย่างรุ่นผมกับรุ่นหลังๆ ก็แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย แต่อีก สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือ บ้านเณรของเรามีพื้นฐานการอบรม และวางรากฐานมาจาก นักบวชคณะซาเลเซียน ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ได้มีผู้ใหญ่ที่เป็นซาเลเซียนปกครองแล้ว แต่บรรยากาศการอบรมที่ท่านเหล่านั้นได้วางรากฐานไว้ก็ยังคงอยู่ ผมเองกับ อาจารย์พิบูลย์ก็เห็นตรงกันว่าการที่พวกเราได้ผ่านการอบรมตรงนี้มา ถือเป็นข้อดี ท่านอาจารย์พิบูลย์ยังได้นำแนวทางการอบรมนี้ ไปปรับใช้กับโรงเรียนของท่านด้วย


               คือสนับสนุนให้เด็กที่อยากเล่นดนตรีก็มี โอกาสได้เล่น สนับสนุนให้เด็กๆ เล่นกีฬา รวมถึงยังวางระเบียบไปถึงผู้ร่วมงาน ซึ่งก็คือบรรดาครูด้วย เช่นให้ครูรู้จักให้ ความเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า โดยมีต้นแบบมาจากการอบรมตามแนวทางของคุณพ่อ บอสโกนั่นเอง ซึ่งตอนที่ผมเป็นเณร ก็ไม่ได้มีความรู้สึกยากลำบากเท่าไหร่ เพราะถ้า เราคิดว่าเราอยากจะเป็นเณร อยากเป็นพระสงฆ์ก็ต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบ เหล่านั้น
สุดท้ายนี้ ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณบ้านเณรอย่างมากที่ได้สร้างบุคลิกให้มี ระเบียบวินัย รู้จักอดทน เห็นอกเห็นใจกัน และที่สำคัญได้ให้วิชาความรู้ด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาละติน ซึ่งผมยังใช้ภาษาละตินเป็นคำคมในคอลัมน์ของผม ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และภาษาอิตาเลียนที่สามารถใช้ได้คล่องแคล่ว เพราะมีโอกาสใช้ตลอดมา
                จึงขอแสดงกตเวทิตามายังบ้านเณรในโอกาสฉลองครบ 50 ปีในครั้งนี้

1. ชนวนสงครามล้างโลก นอสตราดามุสและบรรดานักบุญพยากรณ์ตอน สิ้นพิภพ. (2540).
2. วิเคราะห์ก่อนสิ้นศตวรรษ ที่ 20 ผ่านพระคัมภีร์และนอสตราดามุส. (2541).
3. เกาะติดวิกฤติโลกผ่านพระคัมภีร์และนอสตราดามุส.  (2542).
4. ฝ่ามหาวิปโยคสู่โลกใหม่.  (2542).