จาก เศษ หิน ดิน ทราย
พีรสันติ จวบสมัย
เข้าบ้านเณร ปี พ.ศ. 2519
การศึกษา ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
แรงจูงใจในการเข้าบ้านเณร
ต้องขอบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นคริสตชนที่เคร่งครัดพอสมควร จากที่ท่านได้ร่วมมิสซาทุกอาทิตย์ และน้องชายของคุณพ่อก็คือพระสังฆราชมนัส จวบสมัย อดีตประมุขสังฆมณฑลราชบุรี คุณพ่อเคยเล่าว่าในอดีตนั้น คุณปู่จะส่ง ลูกๆ ทุกคนเข้าบ้านเณร ซึ่งสมัยนั้นเป็นสัตบุรุษอยู่ที่วัดบางนกแขวก คุณพ่อเป็นลูก คนที่สี่ พี่ๆ ของคุณพ่อทั้งสามคนได้เข้าบ้านเณร ตัวคุณพ่อเองก็มีความตั้งใจจะ เข้าบ้านเณรเหมือนพี่ๆ แต่พี่ๆ ทั้งสามที่เข้าไปก่อนนั้นได้ลาออกไปก่อน คุณปู่จึงบอกกับคุณพ่อว่าอย่าเข้าเลย คุณพ่อก็เชื่อฟัง แต่ต่อมาน้องชายของคุณพ่อ ก็ได้สมัครเข้าบ้านเณร ซึ่งต่อมาก็ได้รับศีลบวชและได้เป็นพระสังฆราช นั่นก็คือ พระคุณเจ้ามนัสนั่นเอง จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมครอบครัวของเรา จึงเป็นครอบครัวคริสตชนที่เคร่งครัด สวดภาวนา ไปร่วมมิสซาเป็นประจำ ส่วนตัวผมเองนั้นในช่วงที่เรียนจบชั้นป.7 ที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี ซึ่งในขณะนั้นคุณอาก็คือพระคุณเจ้ามนัส เป็นคุณพ่ออธิการโรงเรียนดรุณาราชบุรีอยู่ ท่านก็ได้มาชวนผมกับเพื่อนอีกสามคนให้เข้าบ้านเณร แต่สุดท้ายก็มีเพียงผม คนเดียวที่ตัดสินใจเข้าบ้านเณร ในสมัยนั้นบ้านเณรกับโรงเรียนจะแยกฝั่งกัน อย่างชัดเจน แต่ก็จะมีเณรบางกลุ่มที่มาเรียนทางฝั่งโรงเรียน ทำให้ผมได้เห็นว่า รุ่นพี่เณรนั้นแต่งกายถูกระเบียบ เรียบร้อย ดูดี บางครั้งไปฉลองวัด เณรก็จะ แต่งตัวดูดี ดูเท่ดี
ในสมัยนั้นโรงเรียนดรุณาราชบุรีจะมีอาคารเรียนเพียง 1 อาคาร นักเรียน ทั้งหมดจะเรียนรวมกันทั้งประถมและมัธยม เมื่อนักเรียนนอกที่เรียนระดับประถม อย่างเราได้เห็นพวกพี่เณร จึงเกิดความรู้สึกประทับใจ บรรดาพี่เณรก็พูดคุย สนุกสนาน ประจวบเหมาะกับที่พระคุณเจ้ามาชวนผมเข้าบ้านเณรด้วย ผมจึงยินดี เดินตามกระแสเรียกของพระที่ส่งผ่านมาทางพ่ออา (เมื่อก่อนที่บ้านจะเรียกท่าน มนัสว่า พ่ออา) และทางรุ่นพี่เณรที่เป็นตัวอย่างที่ดี โดยบ้านเณรเปิดรับเณร ตั้งแต่ชั้น มศ.1 ผมจึงได้สมัครเข้าเป็นเณรที่บ้านเณรแม่พระนิรมล ราชบุรี โดยมีคุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ เป็นอธิการ และมีคุณพ่อสุรพล เนื้อจีน เป็นรองอธิการ
พรสวรรค์ด้านดนตรี และการเรียน ในสมัยนั้นอธิการคงเล็งเห็นพรสวรรค์บางอย่างในตัวผม เนื่องจากคุณพ่อ ของผมท่านก็เป็นนักดนตรีในวงของคณะครูที่โรงเรียน และที่บ้านของผมที่ราชบุรี ก็มีเปียโน คุณพ่อของผมท่านก็ได้ปลูกฝังความรักดนตรี โดยตัวผมเองก็มี ความสนใจด้านดนตรีอยู่แล้ว พอดีกับช่วงที่ผมเป็นเณรแล้วรุ่นพี่ที่เล่นออร์แกน จะต้องไปเรียนต่อที่บ้านเณรกลาง ทำให้ขาดคนเล่นออร์แกน คุณพ่อสมกิจซึ่งถือ ได้ว่าเป็นอาจารย์คนแรกทางด้านดนตรีจึงได้ชักชวนผมให้ลองหัดเล่นออร์แกน ที่บ้านเณรในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ได้เริ่มหัดและเป็นนักดนตรี ประจำบ้านเณร รับผิดชอบด้านดนตรีตั้งแต่นั้น (มศ.2) เรื่อยมา ทุกวันนี้ ยังจำได้เลยว่าออร์แกนตัวเก่าในวัดบ้านเณรนั้นเมื่อเปิด เสียงจะยังไม่มาในทันที ต้องรอไปสักครู่จึงจะสามารถเล่นได้ และบางครั้งหากเกิดไฟกระตุกขึ้นมา เมื่อเล่นๆ ไปอยู่ดีๆ เสียงก็จะหายไป ต้องรอสักครู่อีกเช่นกันเสียงจึงจะกลับมา เป็นปกติ คุณพ่อสุรพลซึ่งเป็นพระสงฆ์บวชใหม่ และเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม จึงได้จัดซื้อออร์แกนเครื่องใหม่มาใช้ในบ้านเณร และก็เป็นคุณพ่อสุรพลอีกเช่นกัน ที่เป็นผู้มีความคิดริเริ่มที่จะจัดให้บ้านเณรมีวงดนตรี จึงทำให้ตัวผมได้มี โอกาสเล่นดนตรีหลากหลาย ทั้งอิเล็กโทน รวมไปถึงวงดุริยางค์ของบ้านเณร เพราะในสมัยก่อน เณรต้องไปฉลองวัดพร้อมกับวงดุริยางค์ของบ้านเณรด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีรุ่นพี่ที่เล่นอยู่แล้ว เท่าที่จำได้ก็มีรุ่นของคุณพ่ออั้น (บาทหลวง สุรชาติ แก้วเสนีย์) เนื่องจากความบันเทิงที่หาได้ง่ายที่สุดสำหรับผมที่เป็นเด็ก ในตอนนั้นก็คงเป็นการเล่นดนตรี เวลารุ่นพี่ซ้อมดนตรีตอนเย็นๆ ก็มักจะเข้าไป เลียบๆ เคียงๆ แวะเวียนไปขอมีส่วนร่วมบ้าง นานๆ ไป รุ่นพี่อาจจะเกิด ความรำคาญ เพื่อตัดปัญหา จึงชวนผมเข้าไปเล่นด้วยเสียเลย เพื่อเป็นการสืบทอด ให้รุ่นน้องต่อๆกันไป แต่ก่อนผมสามารถเล่นกีต้าร์ได้อยู่แล้วเพราะคุณพ่อ ของผมได้เคยสอนให้ผมเล่น แต่ได้มาคลุกคลีแบบจริงจังก็เมื่อเวลาอยู่บ้านเณร
ในสมัยนั้นจะมีบราเดอร์จากบ้านเณรใหญ่แสงธรรมมาช่วยงานที่บ้านเณร ปีนั้นคือคุณพ่อเสนอ ดำเนินสดวก คุณพ่อวีรพันธ์ แก้วมังกร คุณพ่อสิทธิพล พานิชอุดม ซึ่งท่านก็สนใจเล่นดนตรีกันอยู่แล้ว ผมจึงเข้าไปร่วมกับพวกท่านด้วย ทำให้ได้คลุกคลีอยู่กับดนตรี เวลาเย็นหลังทำงานคนอื่นจะเล่นกีฬากัน แต่ผมจะใช้ เวลาช่วงนี้ซ้อมดนตรี ซึ่งที่จริงทางบ้านเณรก็บังคับให้ทุกคนต้องไปเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่สำหรับผมเลือกไปซ้อมดนตรี เพราะจำเป็นต้องเล่น พอมาช่วงที่รุ่นของ คุณพ่ออั้นจบจากบ้านเณรไปเพื่อเรียนต่อ สมาชิกของวงจึงขาดไป พอดีกับที่ สายชล ระดมกิจ เข้ามาเรียนในชั้น ม.1 ส่วนผมอยู่ชั้น มศ.3 จึงได้ชวนเข้า มาร่วมในวง เนื่องจากมองเห็นแววนักดนตรีในตัวเขา เห็นใครพอจะมีแววเล่น กีต้าร์ได้ก็ชวนมาร่วมวงด้วย โดยมีเพื่อนที่ชื่อประยงค์ ทำหน้าที่เป็นมือกลอง และสิทธิศักดิ์ เป็นมือเบส
ด้านการเรียน ผมโชคดีที่เรียนพอใช้ได้มาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเป็นคุณครู สอนวิชาคณิตศาสตร์ คุณแม่สอนภาษาอังกฤษ จึงทำให้ผมไม่วิตกกับการเรียน ถึงแม้จะเล่นดนตรีไป แต่ก็ไม่มีผลกระทบกับการเรียน ครั้งหนึ่งสมัยที่เรียน มศ.4 ผมได้เกรด 4 ทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทยที่ได้ 3 อยู่ตัวเดียว กลายเป็นที่ฮือฮา ของเพื่อนๆ ว่าทำไมผมซึ่งไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่กลับเรียนได้ผลสอบออกมาดีขนาดนั้น ตัวผมเองรู้สึกว่าเวลาเรียนผมสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย จึงทำให้ผมไม่ได้สนใจมากมายเหมือนเด็กเรียนที่ขยันๆ มาก ในสมัยของผม เณรก็จะเรียนทางฝั่ง ปวช. เพราะโรงเรียนดรุณาราชบุรียังไม่เปิดสอนแผนกสามัญ โดยส่วนตัวผมรู้สึกเสียดาย เพราะจริงๆ แล้วอยากเรียนสายสามัญมากกว่า แต่ก็มี รุ่นพี่ที่ทางบ้านเณรส่งเณรไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์บ้าง โรงเรียนเบญจมราชูทิศบ้าง แต่ผลออกมาไม่ค่อยน่าพอใจสักเท่าไหร่ พอดีกับที่ โรงเรียนดรุณาราชบุรีเริ่มเปิดสอนแผนกพาณิชย์การเป็นปีแรกในปี 2522 ทางผู้ใหญ่จึงให้เณรรุ่นผมเรียน ปวช. ที่ รร.ดรุณาราชบุรีพณิชยการเป็นรุ่นแรก ตอนนั้นจำได้ว่ารู้สึกภูมิใจมาก เพราะได้มีโอกาสเป็นพี่ใหญ่อยู่ถึง 3 ปี จนจบ การศึกษาระดับ ปวช. ที่ดรุณาราชบุรีพณิชยการ หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเปลี่ยน เส้นทางกระแสเรียก
ความเป็นมาของวง ดิ อินโนเซ้นท์
วงดิ อินโนเซ้นท์ เป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นในบ้านเณรราชบุรี ซึ่งเป็นสถาบัน สำหรับฝึกหัดเยาวชนชายที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตรับใช้พระในฐานะบาทหลวง ของคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก วงดิ อินโนเซ้นท์ ในขณะนั้นมีสมาชิก 3 คนได้แก่ พีรสันติ จวบสมัย หัวหน้าวง สายชล ระดมกิจ และสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง เดิมนั้นใช้ชื่อวงว่า “อารามบอย” แต่ก่อนเข้าประกวดโฟล์คซองที่โรงเรียน ดรุณาราชบุรีได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ดิ อินโนเซ้นท์” ตามคำแนะนำจากคุณพ่อสิทธิพล พานิชอุดม เและได้เข้าประกวดวงดนตรีโฟล์คซองของนักเรียนโรงเรียนดรุณา ราชบุรี ในโอกาสฉลองคริสตสมภพ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2522 และได้รับ รางวัลชนะเลิศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงดิ อินโนเซ้นท์ในเวลาต่อมา
ในช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2523 มีโครงการของจังหวัดต่างๆ ที่จะส่งเสริมดนตรี ให้กับเยาวชน จึงได้จัดประกวดวงดนตรีโฟล์คซองของเยาวชน ที่เทศบาลราชบุรี วงดิ อินโนเซ้นท์ ได้เข้าประกวดอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2523 และได้รับ รางวัลชนะเลิศอีกครั้งหนึ่ง
ขณะนั้น ผมกำลังศึกษาชั้น ปวช.2 ส่วนสายชลและสิทธิศักดิ์ เรียนอยู่ชั้น ม.3 ที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี ทางคุณพ่อเสนอ (ท่านนี้ก็เป็นรุ่นพี่ที่ให้ประสบการณ์ ในการเล่นดนตรีกับผมมาก จำได้ว่ารู้จักกีตาร์ 12 สาย ก็เพราะคุณพ่อเสนอนี่แหละ เอามาเล่นตอนคืน Family Night ที่บ้านเณร พอปิดเทอมใหญ่ปีนั้นผมรีบกลับ บ้านไปรบเร้าให้พ่อของผมพาไปซื้อที่กรุงเทพฯ เลย) มีความคิดจะทำเทปเพลง ศาสนาซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน คุณพ่อเสนอท่านเป็นนักแต่งเพลงตัวยงของ สังฆมณฑลราชบุรี นามปากกาของท่านคือ ส.ดำเนินสดวก ตอนนั้นคุณพ่อเสนอ จึงรวบรวมเพลงที่ท่านเคยแต่งเอง และเพลงที่เพื่อนร่วมรุ่นของท่านได้แต่งไว้ รวมถึงบอกให้ผมลองแต่งเพลงเกี่ยวกับศาสนาดูบ้าง แล้วมีอยู่วันหนึ่งคุณพ่อ ก็บอกว่า มา.. คืนนี้เรามาอัดเสียงกัน ผมกับเพื่อนๆ ก็รอจนถึงกลางคืนประมาณ สองทุ่ม คุณพ่อเสนอก็หิ้วเครื่องเล่นเทปคาสเสทมาเครื่องหนึ่ง แล้วให้พวกเรา สามคนขึ้นไปบนชั้นสามของบ้านเณร จะมีห้องที่เป็นห้องว่างๆ อยู่ แล้วคุณพ่อเสนอ กับพวกเราก็ลงมือดัดแปลงห้องนั้นเป็นห้องอัดเสียงเพลงเพื่อพระองค์ในทันที (ผมคิดอยู่ในใจเองว่า โห อัดเพลงขายนี่ก็ไม่ยากนี่นา ซึ่งเป็นความคิดที่ ผิดถนัดเลย เพราะเมื่อต้องเข้ามาทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์หลังจากนั้นอีกสองปี ก็ถึงได้รู้ว่า ตัวเองคิดผิดไปจริงๆ) เราอัดเพลงกันจนประมาณเที่ยงคืน อัลบัมที่ปูทางพวกเราให้ เดินเข้าสู่วงการก็เกิดขึ้นในคืนนั้นเอง วงดิ อินโนเซ้นท์ออกผลงานเพลงแบบดนตรี โฟล์คซองเกี่ยวกับศาสนาโดยใช้ชื่อว่า เพลงเพื่อพระองค์ ส่วนผู้ขับร้องบทเพลง ในอัลบั้มคือสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง โดยมีบราเดอร์เสนอ ดำเนินสดวก (ปัจจุบันคือ บาทหลวงเสนอ ดำเนินสดวก) เป็นผู้นำเทปไปดราฟท์ที่ร้านคราวน์ (CROWN) ข้างสหกรณ์ราชดำริ คุณสุรินทร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านได้ฟังก็ติดใจ ผลงานของดิ อินโนเซ้นท์ และเสียงของคุณสิทธิศักดิ์ จึงได้ติดต่อกับบราเดอร์เสนอ
อีก 1 เดือนต่อมา คุณสุรินทร์ได้ติดต่อกับบาทหลวงสุรพล เนื้อจีน (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นอธิการของบ้านเณร เพื่อจะขอให้วง “ดิ อินโนเซ้นท์” มาอัดแผ่นเสียง ซึ่งท่านก็ยินยอม เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว คุณสุรินทร์ได้ไปติดต่อหาเพลง ได้เพลง “รักไม่รู้ดับ” และเพลง “ใครหนอ”ของคุณครูสุรพล โทณะวณิก เพลง “รถม้าลำปาง” ของคุณสนิท ส. มาด้วย เนื่องจากคุณสุรินทร์ต้องการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่เพราะเพลงเก่าเชียร์ง่าย ผู้ฟังก็คุ้นหู ส่วนเพลงที่เหลือเป็นเพลงใหม่ที่ผมแต่งขึ้นเองร่วมกับคุณประสิทธิ์ ชำนาญไพร ชุดนั้นใช้ชื่อว่า “รักไม่รู้ดับ” ซึ่งวางแผงประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2523 แต่ในเมื่อสมาชิกวงดิ อินโนเซ้นท์ ยังเป็นนักเรียนอยู่ การจะออกทีวี แสดงผลงานจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมจำได้ว่าวงดิ อินโนเซ้นท์ได้ออกทีวีโปรโมตเทป เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวก็คือรายการ ประตูดวง เทปชุดแรกของ “ดิ อินโนเซ้นท์” จึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ คุณสุรินทร์ก็ขออนุญาตคุณพ่อสุรพลให้วงได้บันทึกเทปชุดที่ 2 ขึ้นมาอีกครั้ง ชุดนี้ได้เพลง “บางปะกง” ของคุณนคร มังคลายน และเพลงที่แต่งใหม่อีก หลายเพลง โดยใช้ชื่อชุดว่า “บางปะกง” วางตลาดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 คราวนี้ได้โปรโมตทางทีวี 2 ครั้งมากกว่าชุดแรก แต่ปรากฏว่าก็ยังไม่ได้รับ ความนิยมมากนัก ซึ่งผมเองก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะการที่วงดนตรีจะได้รับ ความนิยม ก็คงหนีไม่พ้นการโปรโมตให้ผลงานเข้าถึงคนฟังได้มากที่สุด แต่สำหรับพวกเรา ในขณะนั้นยังห่างไกลคำว่าได้รับความนิยมจนไม่อาจกล้า แม้แต่จะคิด ในปี 2524 นั้น คุณสิทธิศักดิ์ และคุณสายชล เรียนอยู่ชั้น ปวช. 1 ส่วนผมเรียนอยู่ชั้น ปวช.3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมจะเรียนที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี พณิชยการ และจากนั้นถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็ต้องไปศึกษาต่อในบ้านเณรกลาง และบ้านเณรใหญ่ จึงมีความเห็นว่าน่าจะทำเทปอีกสักหนึ่งชุดเพื่อเป็นการอำลาวง “ดิ อินโนเซ้นท์”
คุณสุรินทร์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับธุรกิจด้านดนตรีได้รับคำแนะนำจากนักร้อง ผู้หนึ่งถึงเพลง “สอบตก” ของคุณปฏิภาณ สุขสุทธิ คุณสุรินทร์จึงได้ไปติดต่อ ขอซื้อลิขสิทธิ์มาให้ผมได้เรียบเรียงดนตรี จากนั้นก็เริ่มวางโครงการกันว่า เพลงในชุดนี้ควรเป็นเพลงเกี่ยวกับนักเรียน จึงได้เพลง “ขวัญใจนักเรียน” ของครูพยงค์ มุกดา เพลง “คืนสู่เหย้ากับเพลงศิษย์เก่ารำลึก” ซึ่งผมเป็นผู้แต่ง เองด้วย บทเพลงในชุดนี้จึงเป็นเพลงที่ไม่เน้นเรื่องรักๆใคร่ๆ เพราะทางบ้านเณร ไม่ต้องการให้ “ดิ อินโนเซ้นท์” เล่นเพลงประเภทนี้ และอยากให้เป็นเอกลักษณ์ของ วงดิ อินโนเซ้นท์ด้วย ในช่วงนี้เองที่ “ดิ อินโนเซ้นท์” มีสมาชิกใหม่อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน คือ คุณเกรียงศักดิ์ จงธีระธรรม เข้ามารับตำแหน่งมือกลอง
เทปชุดนี้ใช้เวลาทำไม่นาน จำได้ว่าเราบันทึกเสียงกันช่วงปิดเทอมกลางของปี 2524 แต่กว่าเทปจะวางขายก็ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2525 ซึ่งเป็นช่วงใกล้ ปิดเทอม แต่ด้วยความแปลกใหม่ของเพลง “สอบตก” ซึ่งกลายเป็นเพลงฮิตในเวลา อันรวดเร็ว ทำให้อัลบั้ม “ขวัญใจนักเรียน” นี้ ได้รับความนิยมจากแฟนเพลง อย่างมากมาย เพลงที่ผมแต่งไว้และอยู่ในอัลบัมนี้ด้วยคือเพลง “เสียงจาก แม่กลอง” ได้รับรางวัลจากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม และโครงการสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติ ในฐานะที่มีความสนใจในการรณรงค์เพื่อรักษาสภาวะ แวดล้อมที่ดี นำความปลื้มปีติมาให้กับ "ดิ อินโนเซ้นท์" เป็นอย่างมาก
ในช่วงนั้นเองที่คุณสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง ไม่สามารถลาออกมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เหมือนสมาชิกคนอื่นๆ ได้ ทำให้ “ดิ อินโนเซ้นท์” ต้องรับสมาชิกใหม่ในตำแหน่งเบส โดยได้พบกับคุณเสนีย์ ฉัตรวิชัย ซึ่งขณะนั้นเล่นอีเล็กโทนและร้องนำอยู่ที่ ร้านอาหารแถวซอยนานา จึงติดต่อให้มาร่วมวงด้วยในตำแหน่งเบส สมาชิก 5 คนของ “ดิ อินโนเซ้นท์” จึงประกอบด้วยพีรสันติ จวบสมัย-คีย์บอร์ด สายชล ระดมกิจ-ร้องนำ เกรียงศักดิ์ จงธีระธรรม-กลอง เสนีย์ ฉัตรวิชัย-เบส และปฏิภาณ สุขสุทธิ-กีต้าร์ อย่างไรก็ตาม ดนตรีโฟล์คซอง-สตริงแบบเดิมกำลังกลายเป็น ของเก่าและเริ่มเชย ดนตรีที่น่าสนใจคือป็อปร็อกซึ่งได้รับความนิยมจากวัยรุ่น ทั่วโลก รวมถึงวัยรุ่นไทยด้วย เพราะมีคีย์บอร์ด ซินธีไซเซอร์ กลองไฟฟ้า และ กีต้าร์อีก 2 ตัว เป็นอย่างน้อย ทางวงจึงคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่น ไปในแนวทางนั้น ผมได้นึกถึงเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี เคยเป็นนักดนตรีของโรงเรียน และมีฝีมือในทางกีต้าร์มาก จึงไปชักชวนให้มา ร่วมงานกับ “ดิ อินโนเซ้นท์” คือคุณชาตรี คงสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นเล่นดนตรีประจำ กับวงโฟร์ ซิงเกิ้ล (Four Singles) วงดนตรีประจำจังหวัดราชบุรี และเคยออก แผ่นเสียงกับวง “โรแมนติก” ด้วย ได้ตกลงใจที่จะร่วมงานกัน หลังจากที่ได้ สมาชิกใหม่เข้ามาครบแล้ว จึงเริ่มทำเทปชุดใหม่ขึ้นอีกชุดหนึ่งใช้ชื่อชุดว่า “อยู่หอ”ชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทำให้ “ดิ อินโนเซ้นท์” เป็นที่รู้จักของ แฟนเพลงมากขึ้น ด้วยแนวดนตรีป็อบร็อกสมัยนิยม จากการที่ผมต้องรับหน้าที่ ในการรับผิดชอบงานของวงเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ก็ได้คุณชาตรี ซึ่งพวกเราในวง จะเรียกว่าพี่โอม เริ่มเข้ามามีส่วนอย่างมากในการทำงานดนตรีให้กับชุดนี้ และแฟนเพลงได้มองเห็น พัฒนาการของสมาชิกวงในการเล่นดนตรีที่เริ่ม หนักแน่น และซับซ้อนขึ้น
ตั้งแต่นั้นมา วงดิ อินโนเซ้นท์ได้ออกเทปจำนวน 9 อัลบั้ม จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2532 เมื่อออกอัลบั้มชุดสุดท้ายในชื่อว่า “10 นาฬิกา” สมาชิกของวงก็ต่างแยกย้าย ไปทำหน้าที่ของตน โดยผมเองเป็นนักแต่งเพลงอยู่เบื้องหลังงานของศิลปินต่างๆ ในสังกัดนิธิทัศน์ และได้มีโอกาสรู้จักกับน้านิด (สโมสรผึ้งน้อย) จึงแบ่งเวลา ไปทำงานเพลงในรายการสำหรับเด็ก ซึ่งต่อมาจึงได้มีโอกาสรู้จักผู้สร้างสรรค์ รายการสำหรับเด็กอีกหลายรายการ จึงได้เข้าร่วมเป็นคนทำดนตรีประกอบรายการ สำหรับเด็กอีกมาก (จนนึกไปเองว่า หรือเป็นเพราะชื่อวงนี่เองที่ทำให้มีความผูกพัน กับงานสำหรับเด็กๆ ซึ่งผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้กับเด็กๆ บ้าง) รวมไปถึงการทำเพลงโฆษณาและเพลงประกอบภาพยนตร์ ออกอัลบั้ม Together ในฐานะโปรดิวเซอร์และคนแต่งเพลงทั้งอัลบั้ม โดยมีนักร้องรับเชิญมากมาย เช่น ปั่น(รักเธอทุกวัน), โรสแมรี่(ใจเป็นของเธอ), ฟอร์ด(ลืม),วงพองพอง(รูปเก่าๆ) และได้สายชล ระดมกิจ มาขับร้องในเพลง ดึกก็กลับ คุณสายชล ระดมกิจ หันมาเป็นศิลปินเดี่ยว ได้กลับมาทำอัลบั้มเดี่ยวในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค โดยนำผลงานเพลงเก่าของวง ดิ อินโนเซ้นท์ มาทำใหม่ โปรดิวซ์โดยคุณบอย โกสิยพงษ์ ในอัลบั้มชุด “A Touch of the Innocent” (ปี พ.ศ. 2539) และต่อมา ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวอีกหนึ่งชุด แต่เป็นการนำเพลงเก่าในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค มาทำใหม่ โดยผมได้เป็นโปรดิวเซอร์ให้ในอัลบั้มชุด “Portrait of the Innocent” (ปีพ.ศ.2541) จากการชักชวนของคุณบอย โกสิยพงษ์ เพราะคุณบอยชื่นชอบและ เป็นแฟนเพลงของ ดิ อินโนเซ้นท์ มาตั้งแต่เด็กๆ นั่นเอง ต่อมาคุณสายชล ก็ทำหน้าที่ดูแลศิลปินให้กับค่ายเบเกอรี่ด้วย ซึ่งปัจจุบันคือค่ายเพลงเลิฟอีส
(Love is)
แม้ทางวงดิ อินโนเซ้นท์ จะยุติบทบาทในการเป็นคนเบื้องหน้าไปแล้วก็ตาม แต่แฟนเพลงก็ยังรอคอยการกลับมารวมตัวกันใหม่ของ “ดิ อินโนเซ้นท์” อยู่เสมอ เพราะถือเป็นวงดนตรีไทยที่ทุกคนยังคงกล่าวถึงทั้งในด้านฝีมือและความไพเราะ ของบทเพลง แต่ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังสักครั้งในเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งปี 2552 วงดิ อินโนเซ้นท์ ซึ่งมีสมาชิกหลัก 4 คน อันได้แก่ คุณชาตรี คุณสายชล คุณเสนีย์และผม จึงพร้อมที่จะกลับมาจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552
ไม่ว่าวันนี้คนอื่น ๆ จะมอง วง The Innocent แบบไหนตามแบบที่แต่ละ คนคิด แต่สำหรับผมการที่ได้มีโอกาสเข้าบ้านเณร ได้ใช้ชีวิตที่ใกล้แม่พระมากเท่าที่เณรคนหนึ่งในตอนนั้นจะสามารถทำได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นกลับเป็นประโยชน์ ที่สุดในยามที่ผมต้องออกจากบ้านเณรมา ทุกครั้งที่ผมได้กลับไปเข้าวัด นักบุญยอห์น บอสโก ที่ราชบุรี ผมต้องแอบมองบ้านเณรทุกครั้ง และไม่เคยลืมว่า ถ้าวันนั้น ผมไม่ตัดสินใจเข้าบ้านเณร คงจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ในชีวิตของผม และไม่อาจกลับไปแก้ไขได้อีกเลย