Get Adobe Flash player

จาก เศษ หิน ดิน ทราย
สังฆานุกรยอแซฟ ปิติศักดิ์  พงศ์จิรพันธุ์สังฆานุกรยอแซฟ ปิติศักดิ์  พงศ์จิรพันธุ์
เข้าบ้านเณร ปี พ.ศ. 2533
การศึกษา  มัธยมศีกษา : โรงเรียนดรุณาราชบุรี
                ปริญญาตรี   :  วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ปิโตรเลียม)  
                                   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
                                -  ศิลปศาสตรบัณฑิต (ปรัชญาและศาสนา) 
                                   วิทยาลัยแสงธรรม
ปัจจุบัน                        กำลังศึกษาด้านเทววิทยา  วิทยาลัยแสงธรรม

จุดเริ่มต้นของเศษหินดินทราย
         สวัสดีครับ ขอแนะนำตัวก่อน ผมชื่อ บราเดอร์ยอแซฟ ปิติศักดิ์  พงศ์จิรพันธุ์  ศิษย์เก่าบ้านเณรแม่พระนิรมล ราชบุรีสมัยที่สามเณรเล็กถูกเรียกว่า “น้องเณร” โดยอดีตอธิการดำรัส ลิมาลัยที่น่ารักของพวกเรา ผมเข้าบ้านเณรเมื่อปี 2533 พร้อม ๆ กับเด็กบ้านนอกอีก 15 คน ขอไล่เรียงชื่อ(พวกเขา)หน่อย ก็มี..พ่อเสาร์ พ่อกบ (บวชไปแล้ว..จึงให้เกียรติท่านก่อนใคร) ยุทธ เจมส์ ท๊อป จากวัดเพลง  หน่อง เป็ด น้อง วิก กบเล็ก (ส่วนพ่อกบ..คือกบใหญ่) จากวัดโคก อาทจากวัดท่าเรือ มนูญจากหาดแตง ตุ้ยจากวัดบางนกแขวก ต่อจากวัดบางตาล  ปิยะจากคณะแม่พระ แห่งพระตรีเอกภาพ และกระผม บร.โจ จากวัดแม่กลอง (ภายหลังมี แบ็งค์ จากวัดบางนกแขวก และเบิร์ด จากวัดเพชรบุรี)

          30 ปีแล้วที่ผมเกิดมาในครอบครัวคริสตชนธรรมดา ๆ แต่มีความศรัทธา อย่างมาก ในหมู่บ้านคริสตชนเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก่อนเข้าบ้านเณร ผมคือเด็กชายตัวเล็ก ๆ น้ำมูกเกรอะกรัง (แต่ค่อย ๆ อ้วนกลม ขึ้นเรื่อย ๆ) ที่แหวกว่ายอากาศธาตุอยู่แถว ๆ วัดคาทอลิกแม่กลองร่วมกับเด็ก ๆ ในละแวกวัด โชคดีที่ปู่ย่าตายายของผมมีความศรัทธาและปลูกฝังความเชื่อ คริสตชนให้กับหลาน ๆ อย่างดีไม่มีขาดตกบกพร่อง ชีวิตวัยเด็กของผมจึงวนเวียน ผาดโผนโจนทะยานอยู่กับวัด ก๋งของผมเป็นคนจัดวัดที่ซื่อสัตย์ พูดน้อยและใจดี ตีห้าครึ่ง ก๋งจะลุกจากที่นอนฝ่าอากาศหนาวเย็นขึ้นหอระฆังเพื่อย่ำระฆัง พรหมถือสาร ผมมักจะ(แหกขี้ตา) ติดตามก๋งไปช่วยตีระฆังด้วยเป็นครั้งคราว ย่าของผมใช้ชีวิตทั้งหมดเท่าที่ผมสัมผัสได้ให้กับการสวดสายประคำ วันหนึ่ง ๆ ย่าน่าจะสวดสายประคำได้ไม่ต่ำกว่าสิบสาย ทุกเย็นย่ำก่อนเวลามิสซาประจำวัน ผมจะจูงมือย่าที่ถือไม้เท้า เดินฝ่าหินกรวด(ที่บัดนี้กลายเป็นพื้นคอนกรีตไปแล้ว) ไปร่วมมิสซาประจำวัน จากเด็กน้อยขี้มูกเกรอะกรังกลายเป็นเด็กช่วยมิสซา ที่พนมมืออยู่หลังพระแท่นด้วยสีหน้าจริงจัง(มีคนบอกมา) แม้ในวัยเด็กผมจะ ค่อนข้างขี้อาย แต่ผมก็มีความสุขกับชีวิตเด็กคาทอลิกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรม ของวัดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเด็กช่วยมิสซา นักขับร้อง(ที่ร้องเพลงผิดคีย์) หรือเป็นพลศีล จนถึงเวลาที่พี่ชายและพี่สาวของผมเข้าบ้านเณรคามิลเลียน และอารามซิสเตอร์คณะผู้รับใช้ฯ ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปจากคุณชายกลางกลาย เป็นคุณชายใหญ่ของบ้านที่หาเรื่องทะเลาะกับคุณชายเล็กวันเว้นวัน  จนวันหนึ่ง พ่อบอกว่าผมต้องเข้าบ้านเณรราชบุรี...ผมถามตนเองว่าบ้านเณรคืออะไร?  คำตอบคือสถานที่ที่สามเณรซึ่งผมได้พบเห็นในเวลาไปฉลองวัดเขาใช้ชีวิต อยู่ร่วมกัน..ผมรู้แค่นี้แหละ แต่ก็แอบซ่อนอาการตื่นเต้นไว้ในใจ จนเมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.6 ผมได้ไปเข้าค่ายกระแสเรียกที่บ้านเณรราชบุรี  จนได้รู้จักกับชีวิตเณร มากขึ้นนับแต่นั้น จนเมื่อผมเรียนจบชั้น ป.6  พ่อของผมและคุณพ่อเจ้าวัด (คุณพ่อประดิษฐ์  ว่องวารี) ก็ส่งผมเข้าบ้านเณรแม่พระนิรมล ราชบุรี เศษหินดินทรายเพียงก้อนเดียวจากวัดแม่กลอง ก็คือสามเณรน้อยปิติศักดิ์ พงศ์จิรพันธุ์ คนนี้ ที่ได้ถูกนำเข้าไปขัดสีฉวีวรรณในบ้านเณร

ชีวิตในบ้านเณรราชบุรี
            ชีวิตเณรของเด็กชายตัวอ้วนกลมอย่างผมเริ่มต้นขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ ชีวิตใหม่ในบ้านหลังใหม่ มีคุณพ่อคนใหม่ บรรดาพี่ ๆ หน้าใหม่ (โหดบ้างเป็น บางคน) กับเพื่อน ๆ กลุ่มใหม่  อะไร ๆ ก็ดูใหม่ ใหม่จนผมต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการปรับตัวทั้งความเป็นอยู่และอาหารการกินขอบคุณเพื่อนรักหลาย ๆ คนที่เกาะยึดติดกันเป็นปลิง จนทำให้เราค้นพบคุณค่าของการอยู่ใน บ้านเณรเล็กที่ชีวิตมีครบทุกรสชาติ การแบ่งกลุ่ม การอิจฉา การกลั่นแกล้ง ความสามัคคี การทะเลาะเบาะแว้ง การเข้าใจผิด การคืนดี การหัวเราะ การร้องไห้ การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน และการเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็น ผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กันตามกระบวนการอบรมในบ้านเณรที่เป็นมากกว่า กระบวนการเรียนรู้ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง

             บุคคลท่านหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตเณรราชบุรีของผม ก็คือ พระคุณเจ้า สิริพงษ์  จรัสศรี อดีตอธิการที่ผมอยู่ภายใต้การอบรมดูแลของท่านนานที่สุด หากมิได้เอ่ยนามของท่านคงเหมือนได้ข้ามฉากชีวิตสำคัญฉากหนึ่งไป เมื่อตอน เข้ามาปีหนึ่ง วันฉลองวัดเพลงจะมีการแข่งขันบาสเก็ตบอลระหว่างสามเณรชั้น ม.1 กับเด็กนักเรียนโรงเรียนเรืองวิทย์ พระคุณเจ้าพยายามผลักดันให้ผมซึ่งเวลานั้น มีลำตัวอ้วนกลมได้ลงสนามเล่นบาสเก็ตบอล แต่เพราะความขี้เกียจของผม มีอยู่มากกว่าความเพียรทนของพระคุณเจ้า ผมจึงมิได้เอาดีทางกีฬาชนิดนี้  จำได้ว่าครั้งหนึ่ง หลังจากฉลองวัด สามเณรมักซื้อขนมข้าวโพดอบกรอบที่ แบ่งใส่ถุงขายมากินที่บ้านเณร ในห้องอาหารมื้อค่ำ ขณะที่ความโกลาหลกำลัง ดำเนินไปอย่างปกติที่สุด พลันเสียงดังตู้ม!!! ได้บังเกิดขึ้น เพราะความซุกซนของผม ที่เอาถุงใส่ขนมมาเป่าลมและทุบให้แตก เมื่อนั้น ทุกสรรพเสียงหยุดนิ่งเหมือนมี ใครกดปุ่มปิดเสียงสเตอริโอด้วยรีโมทที่ทำงานดีเยี่ยม คุณพ่ออธิการลุกจากที่นั่ง เดินมายืนอยู่เบื้องหน้าผมด้วยสีหน้าเรียบเฉยแต่แฝงความน่ายำเกรงตามสไตล์ของท่าน  มือขวาของท่านบีบที่ต้นคอของผมพลางส่ายหัวให้กับความเป็นเด็ก ที่ไม่รู้จักโตของผม ผมแอบเห็นรอยยิ้มเล็ก ๆ ที่มุมปากของท่าน โล่งอก..นึกว่าจะถูก ประณามต่อหน้าสาธารณชนซะแล้ว และบัดดล..ความโกลาหลในห้องอาหาร ก็กลับคืนมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

           หลังจากปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่ได้ชีวิตเณรในบ้านเณรก็เป็นชีวิตที่น่า อภิรมย์แม้อยู่ในกรอบของกฎระเบียบ  ผมรู้สึกสนุกกับการอยู่บ้านเณรและค่อยๆ สนิทกับเพื่อนร่วมชั้น จากหนึ่งเป็นสองจากสองเป็นสามสี่ห้าจนเข้าได้ กับทุกคน ผมดีใจที่มีเพื่อนสนิทที่สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง จบชั้นมัธยมสี่ คุณพ่ออธิการบ้านเณร (พระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรี) ใจดีส่งผมไปออสเตรเลีย เพื่อฝึกภาษาอังกฤษในช่วงปิดเทอมพร้อมกับเพื่อนสนิทของผม  ที่นั่นเราได้เรียน
รู้อะไรหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและการพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน กลับมาจากต่างประเทศคราวนั้น  ผมมีตราประทับบนศีรษะ ว่าเด็กออสเตรเลีย (ที่ยังพูดภาษาอังกฤษผิด ๆ ถูก ๆ)

            ผมเคยคิดว่าชีวิตเณรชั้นมัธยมปลายต้องเป็นชีวิตที่คร่ำเคร่งกับการเรียน เพราะพวกเราเรียนสายวิทย์-คณิต มันยากจังในความรู้สึกแบบกระต่ายตื่นตูม ของเด็กคนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเลือกที่จะทำให้มิตรภาพความเป็น เพื่อนที่ค่อย ๆ เบ่งบานมากขึ้น กลบทับคำว่าคร่ำเคร่งกับการเรียน จนชีวิตเณร ของเรากลายเป็นชีวิตที่มีชีวา มีความสนุกหรรษาจากการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ช่วยเหลืองานของบ้านเณรและงานของโรงเรียนอย่างเต็มที่ จนเมื่อขึ้นชั้นมัธยมหก ผมจับพลัดจับพรูได้รับเลือกเป็นประธานสามเณร หน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ เท่าที่เณรคนหนึ่งมีได้มากที่สุดในสมัยนั้น ก็หล่นมาทับผมอย่างจัง  ผมได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ของบ้านเณรนอกเหนือจากการเรียน ความเป็นเพื่อนของเราเบ่งบานจนถึงขีดสุด อาจเพราะเป็นช่วงเวลา สุดท้ายที่หลาย ๆ คนกำลังตัดสินใจ “จะเอายังไงดีวะ..กับชีวิตของตนเอง” แม้จะเป็นพี่โตสุดของน้อง ๆ แต่เราก็เต็มใจเลือกฝ่าฝืนกฎระเบียบของบ้านเณร ด้วยกัน บ้างเป็นครั้งคราวจำได้ว่าพวกเราชั้นมัธยมหกจะสวดสายประคำกันบริเวณ หน้าถ้ำแม่พระ แต่บางวันรู้สึกเซ็ง ๆ เราก็แอบจับกลุ่มคุยกันรอบบ่อปลา แทนที่จะ สวดสายประคำ

        ย้อนกลับไปเมื่อตอนอยู่ชั้นมัธยมห้า พวกเราสร้างวีรกรรมสุดแสบสันต์ ด้วยการแอบหยิบบรั่นดียี่ห้อ “CHRISTIAN BROTHERS” จากตู้โชว์ที่บ้าน อธิการสิริพงษ์ที่วัดในบางนกแขวก เพื่อนำไปสร้างความตื่นเต้นให้กับชีวิตกลุ่ม ในวันเที่ยวชั้นปีที่จะมีขึ้นในวันถัดไป ผลปรากฏว่าวีรกรรมชิ้นโบว์แดงของพวกเรา ชิ้นนี้ดังเปรี้ยงปร้างกลายเป็น TALK OF THE TOWN ในบัดดล จากเหตุการณ์ ในครั้งนี้ เราสูญเสียเพื่อนรักไปคนหนึ่ง และเรียนรู้ว่าความเป็นเพื่อนมีค่า มากแค่ไหน  อีกครั้งหนึ่งในวันฉลองคริสต์มาสที่โรงเรียน เราแอบซื้อสปาย ไวน์ คูลเลอร์ ขึ้นไปกินกันบนดาดฟ้าบ้านเณร (น้องเณรอย่าเอาเยี่ยงอย่างนะ)

การตัดสินใจครั้งแรก 
          ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะออกจากบ้านเณร!!!  จนกระทั้งเทอมสอง บรรยากาศภายในกลุ่มชั้นปีเริ่มแกว่ง ๆ เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ไอ้นั่นจะขอ ลาออกไปเรียนต่อ ไอ้นี่ก็จะลาออกไปเลี้ยงควาย...ล้อเล่นครับ วันหนึ่งผมเอ่ยปาก ถามเพื่อนสนิทว่าจะเอายังไงกับชีวิต มันบอกว่าจะออกเหมือนกัน...ณ เวลานั้น บอกไม่ถูกว่าเกิดพายุกี่ลูกในช่องท้อง แต่เหมือนมีลมพัดฮือ ๆ อยู่ข้างใน ยาขับลม ตราลิงแทะเปลือกทุเรียนคงเอาไม่อยู่ 

          วันเวลาผ่านมาอีกหลายสัปดาห์ เกิดเหตุการณ์หนึ่งกับชีวิตเณรของผม บราเดอร์ผู้ดูแลเรียกผมไปเคลียร์ปัญหา(หัวใจ) ที่เกิดจากความเป็นตัวของ ตัวเองที่เอ่อล้นจนเกินพอดีกับระบบการปกครองดูแลของคณะผู้ใหญ่ซึ่งผม เห็นว่าน่าจะมีการปรับปรุงแนวทางการอบรมให้ทันสมัยขึ้นบ้างในบางเรื่อง  เมื่อเติบโตขึ้น มีอำนาจหน้าที่มากขึ้น ความคิดของผมก็พัฒนาขึ้น  ในเมื่อผู้ใหญ่ มิได้ตอบสนองตามความคิดเห็นแบบเด็ก ๆ ของผม ผมจึงอยากใช้ชีวิตอย่าง มีอิสระให้มากขึ้นบ้าง ผมมองว่า เพื่อน ๆ มันยังเลือกเส้นทางชีวิตให้กับตนเอง ได้เลย แล้วผมล่ะ...ผลการเรียนของผมก็มิได้แพ้ใคร แม้ว่าความขี้เกียจ จะเป็นรองเพื่อนอยู่ไม่กี่คน ผมใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ทบทวนหาคำตอบให้กับตนเอง ตอนเช้ามั่นใจ “กูจะอยู่บ้านเณรต่อ” พอตกเย็นเสียงข้างในตอกย้ำ “ออกไปหา ประสบการณ์ข้างนอกดีกว่า” เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดสัปดาห์แห่งการทดสอบ แม้จะได้มีเวลานั่งอยู่เบื้องหน้าศีลมหาสนิทเพื่อวอนขอแสงสว่างจากพระในการตัดสินใจ แต่เหตุใด “พระองค์เงียบจังเลย..เงียบจนลูกกลัวและสับสนจนไม่กล้าตัดสินใจ”

          ในที่สุด คำตอบก็เหมือนลงมาจากเบื้องบน มีโควต้าวิศวกรรมศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยเปิดใหม่แห่งหนึ่งเข้ามา ผมจึงชวนเพื่อนสนิทรีบคว้าใบสมัครทันที ผมตัดสินใจอยู่หลายรอบ(เหมือนเดิม) จนกระทั่งวันหนึ่งจึงเข้าไปขอคุณพ่อ อธิการบ้านเณร(ท่านเดิม) เพื่อลาออก  คุณพ่ออมยิ้มพลางถามว่า “ตัดสินใจอย่างไร จะไปซ้ายหรือไปขวา” ผมตอบแบบไม่มั่นใจว่า “ทางซ้ายครับ” ท่านนิ่งเงียบ ก่อนจะกำชับว่า  “เมื่อตัดสินใจแล้วจงรับผิดชอบชีวิตของตนเองให้ดี” วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539  ผมขนของออกจากบ้านเณร พ้นสภาพการเป็นสามเณร ราชบุรีนับแต่นั้น  และไม่นานผมกลายเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา  พร้อมกับเพื่อนสนิทของผม (เจมส์และ หน่อง) นับจากนั้น ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไป.....

การตัดสินใจครั้งที่สอง
         ชีวิตนักศึกษาเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาอย่างแท้จริง แสวงหาเอกลักษณ์ ของตนเอง แสวงหาอิสรภาพ แสวงหาการยอมรับและแสวงหาความหมายของชีวิต   โชคดีที่พระเจ้ายังทรงหวงแหนบุตรคนนี้อยู่มาก ผมจึงยังมีสำนึกดีที่ได้รับ จากบ้านเณรเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ชีวิตตกขอบ  อีกทั้งฐานะการเงินของทางบ้าน ในช่วงนั้นไม่สู้ดีเอามาก ๆ  และผมก็ยังรักพ่อแม่มากกว่านั้นอีก  จึงไม่ปรารถนา จะทำให้ท่านเสียใจ แม้ผมจะใช้ชีวิตอิสระไปตามกระแสสังคมสมใจปรารถนา แต่นักศึกษาทุกคนก็ถูกคาดหวังจากสังคมว่า เมื่อเรียนจบแล้วมีประตูบานเดียว ที่เปิดรออยู่คือการประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือการเรียน เราต้องตั้งใจเรียนเพื่อออกไปเป็นคนทำงาน...ไปเป็นวิศวกรของชาติ   แม้การศึกษา จะเรียกร้องความเสียสละขั้นวีรกรรม และการปรับตัวทำให้ผมเริ่มคุ้นชิน กับชีวิตนักศึกษามากขึ้น 

           เพียงความปรารถนาจะไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ใช้ชีวิตวัยรุ่นให้สุดเหวี่ยง ได้หัวเราะเริงร่ากับพรรคพวกในโลกแห่งสีสันสดใสของชีวิต  แต่เมื่อได้เรียนรู้ ทีละเล็กทีละน้อยจากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน ผมจึงเข้าใจว่า อิสรภาพแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตของผม เสียงลึก ๆ ในใจเรียกร้องอย่างสม่ำเสมอให้ผม ต้องทบทวนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง  นับจากนั้น  เกิดเหตุการณ์มากมายในกระบวนการ ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ต้องเสียน้ำตา เสียใจกับความรู้สึกเหมือน ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง  พระเจ้าทรงทดลองใจผมมากมายกว่าจะได้กลับเข้ามา เป็นเณรอีกครั้ง แต่ในที่สุด ผมก็ได้เข้าบ้านเณร

การตัดสินใจครั้งที่สาม
          ชีวิตครูเณรหนึ่งปี มีเหตุการณ์ด้านความสัมพันธ์กับบุคคลที่ก่อชนวนให้ผม เกือบตัดสินใจโบกมือลาชีวิตเณรอีกครั้ง  หลังจากการทดลองครั้งใหญ่ในชีวิตเณร น้ำตาหลั่งไหลไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนผมได้เรียนรู้ว่า ตัวเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสน อ่อนแอและช่างเปราะบาง แต่พระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้ง พระองค์อาจตีสอนจน บอบช้ำแต่ก็ไม่ถึงตาย ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็นับว่าพระรักผมอย่างแท้จริง เติบโตขึ้นจากความผิดพลาด พร้อมทั้งพกพาประสบการณ์ไปสานต่อยัง บ้านเณรพระวิสุทธิวงศ์ โคราช ขอขอบคุณคุณพ่อวัชระ พฤกษาโรจนกุล อธิการที่เป็นเหมือนพี่ชาย รวมทั้งคุณพ่อนิรุต กิจเต่ง รองอธิการในสมัยนั้น (ซึ่งก็คือคุณพ่ออธิการคนปัจจุบัน..แถมคุณพ่อยังเป็นไอดอลของผมด้วยครับ) ที่ช่วยเตือนผมว่า “แรงจูงใจที่จะขอลาออกยังไม่ชัดเจน” และให้ผมเก็บจดหมาย ลาออกฉบับนั้น(ที่คุณพ่อได้อ่านแล้ว) เอาไว้ก่อน ผมใช้เวลาอีกไม่ถึงเดือนเพื่อจะได้ รับรู้ว่า เหตุการณ์นั้นมิใช่ปัญหาสำหรับผมอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่ไหนที่ผมได้ผ่านมาได้แล้ว...เย้!!

การตัดสินใจครั้งต่อ ๆ มา
           ชีวิตหนึ่งปีที่บ้านเณรโคราชมีครบทุกรสชาติ เทอมแรกผมต้องใช้เวลา ทั้งหมดในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมรุ่นที่อายุน้อยกว่า คุยกันคนละภาษา ได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่ออธิการให้เป็นหัวหน้าบ้าน ต้องพยายามวางตัว เป็นแบบอย่างที่ดี  แต่หลายครั้งกลับรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ นั่งเรียนภาษาอังกฤษกับซิสเตอร์มอนิกา แต่หัวใจกลับเป็นทุกข์ อยากลุกออกไปเฝ้า ศีลมหาสนิทและตัดสินใจขอกลับบ้านในทุก ๆ ชั่วโมง (จะมีเพื่อนคนไหนรู้บ้างมั้ย?) เป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่จริง ๆ เพราะไม่รู้จะไปปรับทุกข์กับใคร ใช้ความเงียบเยียวยา ตนเองอย่างเดียว..จนรู้สึกเหมือนตัวตนที่แท้จริงของเรามันตายไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม  เทอมที่สองเริ่มต้นด้วยการไปสัมผัสชีวิตชาวบ้านโคกสี อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ไปช่วยเขาเกี่ยวข้าวและทำกิจกรรมร่วมกัน นับแต่นั้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนค่อย ๆ เติบโตจนเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ในชีวิตสามเณร  เริ่มเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนแต่ละคน เรียนรู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร กับเพื่อนคนไหน ทำงานอภิบาลหลากหลายด้วยหัวใจพองโต โดยเฉพาะได้ไป เต้นแร้งเต้นกากับผู้พิการทางสมองที่บ้านเมตตา ประทับใจจนอยากเป็นพวก เดียวกับเขา หากไม่ติดเรื่องกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์เอามาก ๆ  งานราตรีสัมพันธ์ ก่อนจบปีการศึกษา ยังจดจำคำที่บอกกันไว้ว่า “เราจะก้าวไปด้วยกัน” จากวันนั้น ชีวิตเณรของผมก็ค่อย ๆ เบิกบานเสมอมา จนกระทั้งวันนี้
 
ชีวิตปัจจุบันกับรางวัลนักศึกษาพระราชทาน
           ในชีวิตของนักศึกษาคนหนึ่ง หากจะมีรางวัลใดที่ทรงเกียรติสูงสุด ก็คงจะ เป็นการได้รับคัดเลือกจากนักศึกษาทั่วประเทศให้รับรางวัลนักศึกษาพระราชทาน และผมก็คือนักศึกษาผู้นั้น ซึ่งได้รับการประเมินจากคณะกรรมการและถูกคัดเลือก ให้เป็นตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กของภาคกลาง  ให้รับรางวัล นักศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2551  รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติประวัติ ที่ทรงคุณค่าสำหรับผมก็จริง แต่ก็ยังมีความหมายน้อยกว่าการได้รับศีลบวช เป็นสังฆานุกร

           รางวัลนักศึกษาพระราชทานการันตีให้บุคคลทั่วไปรับทราบว่า ผมคือ นักศึกษาคนหนึ่งที่มีความตั้งใจดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม ซึ่งอุดมการณ์เหล่านี้ ผมได้เริ่มต้นรับการปลูกฝังเพาะบ่มมาจากบ้านเณรราชบุรี และค่อย ๆ พัฒนาขึ้น เรื่อย ๆ ตามกระบวนการอบรมของบ้านเณร แต่การเป็นสังฆานุกร ถือเป็นก้าว สำคัญสู่การเป็นศาสนบริกรของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดี เพราะบนเส้น ทางแห่งกระแสเรียกที่ก้าวผ่านมา มันเต็มไปด้วยหลุมบ่อ บททดสอบ และการตัดสินใจ มีร่องรอยแห่งพระพรของพระเจ้า ฉายชัดอยู่ตลอดเส้นทางนั้น และกว่าจะถึงวันนี้ต้องผ่าน กระบวนการคัดสรรสุดหฤโหด ไม่เพียงจากพระศาสนจักร แต่การคัดสรรนี้อยู่ในหัวใจลึก ๆ ของผมเองที่มีอิสรภาพอย่างเต็มเปี่ยมจากพระเจ้าผู้ทรงยื่นข้อเสนอให้ หลังจากที่ พระองค์ได้ใช้เวลาในการทดสอบบุตรสุดที่รักคนนี้ มาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว

บ้านเณรราชบุรีมีความหมายต่อผม...
        คุณพ่ออธิการและรุ่นพี่สามเณรราชบุรีพร่ำสอนพวกเรา เสมอว่าเอกลักษณ์ของเณรราชบุรี คือความเป็นพี่เป็นน้องและความมีน้ำใจ  ผมไม่เคยลืมและได้เน้นย้ำกับน้องๆ เรื่อยมา  ดังนั้นคติพจน์ประจำใจในการ ดำเนินชีวิตของผมก็คือ “น้ำใจมาก่อนความสามารถ”  มีหลายบุคคลหลายฝ่าย ที่มีพระคุณกับผมอย่างแท้จริง เคียงข้างและคอยให้กำลังใจในการปฏิบัติ หน้าที่ต่าง ๆ  ผมได้เรียนรู้ว่า เมื่อเรามีความตั้งใจดีที่จะทำสิ่งใดเพื่อส่วนรวม ขอให้แน่ใจว่าจะมีผู้สนับสนุน และคอยช่วยเหลือเราตลอดเวลา 

         กลับสู่บ้านเณรราชบุรีเมื่อใด ภาพความทรงจำต่าง ๆ ผุดขึ้นมาในความคิด คำนึงทุกครั้ง ทุก ๆ สถานที่มีเรื่องราวที่ผมและเพื่อน ๆ ร่วมกันสร้างวีรกรรมไว้ ไม่เว้นแม้แต่สักหนึ่งตารางเมตรที่ไม่มีความทรงจำของพวกเราประทับเอาไว้ที่นั่น ความทรงจำนี้มาพร้อม ๆ กับคำสั่งสอน การอบรมที่ผมได้รับการปลูกฝังมากับ เพื่อน ๆ จากบรรดาคุณพ่ออธิการ คุณพ่อรองอธิการ บราเดอร์ มาสเตอร์ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่อยู่ร่วมกัน วันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี ที่ค่อย ๆ ก้าวผ่านเลยไป อดีตอาจผ่านไปพร้อมสายลมแห่งกาลเวลา แต่อัศจรรย์แห่งการก้าวผ่านช่วงเวลา ในชีวิตคือทุกความทรงจำ ณ บ้านหลังนี้ยังคงแจ่มชัดอยู่เสมอ เมื่อได้พบเจอ บรรดาศิษย์เก่าทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ประสบการณ์ ร่วมกับผู้นั้นก็ย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง

       และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น ก็คือแรงผลักดันให้ผมอยากจะก้าวต่อไปเป็นคนดี เป็นพระสงฆ์ที่ดีให้สมกับที่เคยได้รับการอบรมที่นี่ ณ บ้านหลังนี้ แม้ว่าแต่ก่อน บ้านเณรเคยดูยิ่งใหญ่กว้างขวางสำหรับเด็กน้อยอย่างผม แต่ปัจจุบันความยิ่งใหญ่ กลับมิใช่ในแง่ของสถานที่ แต่บ้านเณรยิ่งใหญ่เสมอในคุณค่าของการสร้างเด็ก คนหนึ่งให้เติบใหญ่ เป็นคนดีของสังคมและของพระศาสนจักร

         ชีวิตของศิษย์เก่าอย่างผมที่กำลังก้าวสู่ศักดิ์สงฆ์ พระคุณของบ้านเณร คือพระพรของพระเจ้าที่ประทานให้กับเศษหินดินทรายก้อนหนึ่ง ถูกขัดเกลา ปั้นแต่งจนสวยงามเพื่อให้เป็นเครื่องมือของพระองค์ ณ บ้านหลังนี้  ผ่านมาแล้ว ห้าสิบปี มีรอยเท้านับหลายล้านรอยถูกประทับไว้บนหินแต่ละก้อน อิฐแต่ละแผ่น แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือมีร่องรอยแห่งพระพรจากพระเจ้า รอยความตั้งใจของบรรดา พระสงฆ์มิชชันนารี  และรอยศรัทธาของมวลคริสตชนนับไม่ถ้วน ที่นำพาบ้านเณร ก้าวฝ่ากำแพงแห่งยุคสมัย ฝ่าอุปสรรคแห่งกระแสเรียกได้อย่างเปี่ยมความหมาย คือความหมายของการเป็นหัวใจมิสซังที่ภาคภูมิใจ  จากวันนั้นจนถึงวันนี้และวันต่อ ๆ ไป อยากบอกอีกครั้งได้มั้ยว่า “ผมรักบ้านเณร”

สถิติการเยี่ยมชม

00787904
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
Last Week
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
246
74
532
476086
465
1352
787904
Your IP: 3.137.41.2
2025-05-04 14:07