ข้อกำหนดของสังฆมณฑลราชบุรี ค.ศ. 2003
ข้อ 14 ระเบียบการคณะกรรมการเพื่อสามเณราลัยและกระแสเรียก
หลักการและเหตุผล
1. พระดำรัสของพระคริสตเจ้าเองที่ตรัสว่า “จงภาวนาเถิด จงอ้อนวอนพระผู้ทรงเป็นเจ้าของนา ให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์” (มธ. 9:38)
2. พระเยซูเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรให้ทำงานของพระองค์ในโลกนี้ต่อไปว่า “จงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีนี้ให้แก่มนุษย์ทุกคน” (มก. 16:15)
3. “พระสงฆ์ทุกองค์จะต้องถือว่า สามเณราลัยเป็นหัวใจของสังฆมณฑล และเต็มใจช่วยเหลือ” (สังคายนาวาติกันที่ 2 ว่าด้วยการอบรมพระสงฆ์ บทที่ 3 ข้อ 5)
4. “ต้องอบรมทางด้านวิญญาณอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น คือ การถือพรหมจรรย์ จิตตารมณ์ชอบสวดภาวนา ความสุจริต จริงใจ ถือยุติธรรม มารยาทในความประพฤติ ความเสงี่ยมเจียมตัว” (สังคายนาวาติกันที่ 2 ว่าด้วยการอบรมพระสงฆ์ บทที่ 4)
5. “จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าพระสงฆ์มีคุณธรรม ซึ่งเป็นที่ยกย่องในการติดต่อกันระหว่างมนุษย์ เช่น ความใจดี ความจริงใจ ใจเข้มแข็ง การยืนหยัดไม่ท้อถอย ความรักยุติธรรม ความมีมารยาท และคุณสมบัติอื่น ๆ ที่นักบุญเปาโลกำชับให้มีเมื่อท่านกล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เป็นความจริงใจและน่าเคารพ ทุกสิ่งที่ยุติธรรมบริสุทธิ์ และสมควรที่จะรักทุกสิ่งที่มีคุณธรรมดีเลิศและน่าสรรเสริญ ท่านจงเก็บมาเป็นเรื่องคิดของท่านเถิด” (สังคายนาวาติกันที่ 2 ว่าด้วยการปฏิบัติงานของชีวิตของพระสงฆ์ บทที่ 1 ข้อ 3)
นโยบาย
1. การอบรมสามเณรพึงเสริมสร้างคุณสมบัติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.1 ด้านบุคลิกภาพ เช่น ความจริงใจ การมีอารมณ์หนักแน่น มีความซื่อสัตย์ มีคุณสมบัติผู้ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ เข้าใจถึงเสรีภาพที่ถูกต้อง รู้จักรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่ม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
1.2 ด้านชีวิตจิต เช่น รักพระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างถูกต้อง มีจิตตารมณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความนอบน้อมเชื่อฟัง รู้จักเสียสละ มั่นคงในความบริสุทธิ์ เห็นคุณค่าของความเชื่อ สนใจในงานแพร่ธรรม
1.3 ด้านสติปัญญา เช่น มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง มีความสามารถที่จะศึกษาวิชาการชั้นสูงทางพระศาสนา เข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและงานของพระสงฆ์ (เทียบ Ratio Fundamentalis ข้อ 39)
2. การอบรมสามเณรพถึงมุ่งเน้นในการเสริมสร้างชีวิตพระสงฆ์ที่ครบครันตามแบบของพระคริสตเจ้า ทั้งนี้โดยอาศัยพื้นฐานของความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ให้การอบรมและผู้รับการอบรม ฉะนั้น การลงโทษทางกายหรือการทำให้เป็นที่อับอายต่อเพื่อน ๆ เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงในสามเณราลัย ส่วนการลงโทษเพื่อปรับปรุงแก้ไขนิสัย พึงกำหนดไว้เป็นขั้นอย่างดี โดยอาศัยหลักการวิชาการและความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน (โน้ต ง. ข้อ 13 ของ Ratio Fundamentalis)
3. สามเณราลัยตั้งขึ้นเพื่อรับเฉพาะเด็กชายที่ปรารถนาเตรียมตัวบวชเป็นพระสงฆ์ด้วยใจจริง
หมวดที่ 1 ความทั่วไป
ข้อ 1 คณะกรรมการนี้มีชื่อว่า “คณะกรรมการเพื่อสามเณราลัยและกระแสเรียก” มีอักษรย่อว่า คสก. โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Committee for the Seminary and Vocations” มีอักษรย่อว่า CSV.
ข้อ 2 คณะกรรมการนี้ สังกัดคณะกรรมาธิการฝ่ายบุคลาภิบาล
หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 3 วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการเพื่อสามเณราลัยและกระแสเรียก คือ
3.1 เพื่อวางหลักการ นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการอบรมสามเณรตามแผนและโครงการ 5 ปีของสังฆมณฑล
3.2 ส่งเสริมสามเณรให้แลเห็นกระแสเรียกของตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมที่จะตอบสนองต่อกระแสเรียก เพื่อบรรลุ
เป้าหมายของการเป็นพระสงฆ์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมับติฝ่ายกาย ฝ่ายจิตและฝ่ายสติปัญญา
3.3 ส่งเสริมสามเณรให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังฆมณฑลและวัดในโอกาสต่าง ๆ
3.4 ส่งเสริมสัตบุรุณให้แลเห็นความสำคัญของสามเณราลัย โดย
3.4.1 จัดประชาสัมพันธ์สามเณราลัย
3.4.2 จัดกองทุนสนับสนุนสามเณราลัยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในด้านปัจจัยการเงินและสิ่งของ
3.5 เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสามเณราลัยและครอบครัวของสามเณราลัย เช่น
3.5.1 จัดพบปะสังสรรค์ประจำปีระหว่างผู้บริหารสามเณราลัยและผู้ปกครองสามเณร
3.5.2 จัดพิมพ์วารสารของสามเณราลัยเพื่อเผยแพร่ยังครอบครัวของสามเณร
3.6 ส่งเสริมการเจริญชีวิตฉันท์พี่น้อง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงระบบและวิธีการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ เช่น
3.6.1 จัดตั้งสภาสามเณราลัยเพื่อส่งเสริมให้สามเณรมีโอกาสร่วมมือกับผู้บริหารในงานด้านต่าง ๆ
3.6.2 จัดตั้งกลุ่มรับผิดชอบในงานแขนงย่อย ๆ
3.6.3 จัดกิจกรรมร่วมระหว่างพระสงฆ์ประจำบ้านเณรและบรรดาสามเณร
3.7 ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเรื่องกระแสเรียกกับสัตบุรุษ ทั้งกระแสเรียกของนักเรียน เยาวชน และกระแสเรียกผู้ใหญ่ (late vocation)
หมวดที่ 3 โครงสร้างการบริหาร
ข้อ 4 คณะกรรมการสามเณราลัย ประกอบด้วย
4.1 คุณพ่ออธิการ
4.2 คุณพ่อรองอธิการ
4.3 คุณพ่อวิญญาณรักษ์
ข้อ 5 คณะกรรมการที่ปรึกษาของสามเณราลัย ประกอบด้วย
5.1 คุณพ่ออธิการโรงเรียนดรุณาราชบุรี
5.2 คุณพ่อรองอธิการโรงเรียนดรุณาราชบุรี
5.3 คุณพ่อผู้จัดการโรงเรียนดรุณาราชบุรี
5.4 คุณพ่อที่ประจำอยู่ที่ศูนย์สังฆณฑล
5.5 คุณพ่อที่ประจำอยู่ที่สำนักพระสังฆราช
5.6 คุณพ่อที่ประจำอยู่ที่ศูนย์คำสอนของสังฆมณฑล
5.7 ตัวแทนศิษย์เก่า 2 ท่าน
5.8 ตัวแทนผู้ปกครองสามเณร 2 ท่าน
ข้อ 6 คณะกรรมการสามเณราลัยประชุมกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง
ข้อ 7 คณะกรรมการที่ปรึกษาประชุมกันเทอมละครั้ง
ข้อ 8 คุณพ่ออธิการอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี เมื่อครบวาระแล้ว พระสังฆราชท้องถิ่นมีอำนาจพิจารณาต่ออายุได้อีกเมื่อเห็นสมควร ส่วนคุณพ่อรองอธิการและคุณพ่อวิญาณรักษ์ไม่มีกำหนดวาระ
หมวดที่ 4 อำนาจและหน้าที่
ข้อ 9 คุณพ่ออธิการสามเณราลัย มีหน้าที่ดังนี้
9.1 เป็นประธานของคณะกรรมการบริหารสามเณราลัยโดยตำแหน่ง
9.2 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารสามเณราลัย
9.3 บริหารงานโดยปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคุณผู้บริหารอื่น ๆ ทั้งนี้โดยมีพื้นฐานอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง เคารพในมโนธรรมของผู้ร่วมงาน
9.4 เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อรับทราบการดำเนินงานของสามเณราลัยในแผนกต่าง ๆ และเพื่อการปรับปรุง
9.5 พบปะเป็นรายบุคคล เพื่อติดตามกระแสเรียกของสามเณรอย่างใกล้ชิด
9.6 เสนอชื่อผู้ฟังแก้บาป และให้พระสังฆราชแต่งตั้ง
ข้อ 10 คุณพ่อรองอธิการ มีหน้าที่ดังนี้
10.1 ดูแลฝ่ายการศึกษา
10.2 ดูแลฝ่ายระเบียบวินัย
ข้อ 11 คุณพ่อวิญญาณรักษ์ เป็นที่ปรึกษาสามเณรเป็นส่วนตัว และให้คำแนะนำการดำเนินชีวิต
หมวดที่ 5 การเงิน
ข้อ 12 สามเณราลัยมีรายได้ดังนี้
12.1 จากผู้ปกครองสามเณราลัย สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของสามเณร
12.2 จากการจัดฉลองประจำปี
12.3 จากกรุงโรม
12.4 จากผู้มีจิตศรัทธา
12.5 โรงเรียนดรุณาราชบุรี รับผิดชอบค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
ภาคผนวก
1. ชมรมศิษย์เก่าสามเณราลัยราชบุรี ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในโอกาสฉลองบ้านเณรเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยคุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ (อธิการสมัยนั้น) ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เจริญยิ่งขึ้นไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเป็นประจำทุกปี
2. สามเณรใหญ่และสามเณรกลางของสังฆมณฑลราชบุรี ระหว่างปิดภาคต้นและภาคปลายให้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณพ่ออธิการสามเณราลัยแม่พระนิรมลราชบุรี