Get Adobe Flash player

บ้านเณรบางช้าง 3 (สมัยพระสังฆราชแปร์รอส)
           ในปี ค.ศ.1909  พระสังฆราชเวย์ถึงแก่กรรม คุณพ่อกอลัมเบต์ได้รับหน้าที่ดูแลมิสซัง ต่อมาได้ตั้งคุณพ่อแปร์รอสเป็นอธิการบ้านเณร คุณพ่อแปร์รอสเป็นอธิการได้เพียงปีเดียว  ท่านได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชแทนพระสังฆราชเวย์  คุณพ่อแฟร์แล  ได้รับหน้าที่เป็นอธิการบ้านเณรแทนคุณพ่อมาตราด ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นอธิการแทนคุณพ่อแบร์นาร์ด เมื่อปี ค.ศ.1901

             พระสังฆราชแปร์รอสได้รับตำแหน่งประมุขมิสซังไทย ในปี ค.ศ.1901 ท่านได้มีความสนใจเรื่องบ้านเณรมาก ทุกปีเวลาสอบไล่ครั้งสุดท้ายของปี ท่านจะไปเป็นกรรมการสอบภาษาลาตินด้วยตัวท่านเองเป็นประจำ ไม่เคยขาดเลย วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1910 พระสังฆราชแปร์รอส  ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ 9 องค์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านสมัยเป็นอาจารย์ และอธิการบ้านเณร ในจำนวนพระสงฆ์ 9 องค์นี้มีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อคุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสังฆราช ประมุขมิสซังจันทบุรีองค์แรกและได้รับการอภิเษกจากพระสังฆราชแปร์รอส  เช่นกัน


 
 
       ปี  ค.ศ.1913  คุณพ่อเลตเชอร์  เอวเยน เป็นอธิการบ้านเณรแทนคุณพ่อแฟร์แล เริ่มรับเด็กเข้าบ้านเณรสองปีต่อครั้ง สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น พระสงฆ์ฝรั่งเศสโดนเรียนกลับไปเป็นทหารช่วยป้องกันประเทศจำนวนมาก กิจการทางบ้านเณรจึงซบเซาลงบ้าง เพราะขาดพระสงฆ์ช่วยสอน และดูแลเณรดังแต่ก่อน คุณพ่อยาโกเบ คุณพ่อซีมอน เป็นผู้ช่วย 

      ปี ค.ศ.1917 คุณพ่อการ์ตอง รับหน้าที่เป็นอธิการบ้านเณร  โดยมีคุณพ่อลูกา บาร์บีเออร์ คุณพ่อยาโกเบ เป็นผู้ช่วย 

      ปี ค.ศ.1918 ทางบ้านเณรได้สร้างถ้ำแม่พระเมืองลูรด์ ที่หน้าบ้านเณร เพื่อช่วยให้เณรมีความรักต่อแม่พระ งานนี้สำเร็จได้ด้วยการวิ่งเต้นของคุณพ่อยาโกเบ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง  ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์จนพระทั่งทุกวันนี้  

     ปี ค.ศ.1919 คุณพ่อดาวิด มาช่วยที่บ้านเณรอีกองค์หนึ่ง ปี ค.ศ.1920 คุณพ่อลูกา บาร์บีเอออร์ ถึงแก่ความตาย ปี ค.ศ.1921 คุณพ่อฟีเกต์ มาช่วยบ้านเณรแทนคุณพ่อลูกา

 

      ปี ค.ศ.1922  มีเหตุการณ์สำคัญอันควรจารึก ในประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางนกแขวก คือ  งานฉลอง 50 ปีกึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ตั้งบ้านเณรที่บางนกแขวก มีงานฉลองใหญ่ ในวันที่ 23 มิถุนายน พระสังฆราชแปร์รอส  พร้อมกับพระสงฆ์ 30 องค์ จากทุกแห่งของประเทศไทย ยินดีสละเวลาไปร่วมงานฉลองอันยิ่งใหญ่ ระยะ 50 ปีนี้  บ้านเณรได้ผลิตพระสงฆ์ให้แก่มิสซังไทย  35 องค์ ในปีนี้มีเณร 6 คน ไปเรียนต่อที่ General College มีเณรเล็กและเณรใหญ่ 69 คน  ในจำนวนนี้มีหลายคนเป็นเณรของมิสซัง ที่มิสซังใหม่ของลาวได้มอบให้มิสซังแม่เป็นผู้อบรมพระสงฆ์รุ่นแรกๆ  ของมิสซังลาว 
 
         ปี ค.ศ.1923 พระอัครสังฆราชเลกรออารต์  สมณทูตของสมเด็จพระสันตะปาปาได้มาเยี่ยมบ้านเณรที่บางนกแขวก ได้ตรวจดูงานของบ้านเณร ได้สั่งให้มีการฝึกงานของเณร  ที่ไปอยู่ตามวัดต่างๆ เป็น 2 ปีแทน  4 ปี  ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว

         ปี ค.ศ.1927  สามเณราลัยเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติจากพระสมณทูต สำหรับสามเณราลัยเล็กทุกแห่งในอินโดจีน ชั่วโมงเรียนยาวขึ้น  และวิชาทั้งหลายที่จะต้องเรียนก็มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ในระยะเดือนแรกๆ ที่ใช้หลักสูตรใหม่นั้น  เป็นที่น่าพอใจ  ปีนี้สามเณราลัยมีเรื่องน่าเศร้า  อันเนื่องมาจากการตายของนักเรียน 2  คน  และได้ส่งสามเณรของสยามคนแรกไปเรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ต่อที่กรุงโรม

         ในปี ค.ศ.1927 นี้เอง  พระสังฆราชแปร์รอส ได้ติดต่อขอคณะซาเลเซียนมาช่วยประกาศศาสนาในประเทศไทย โดยผ่านทางกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ  เพื่อมอบเขตราชบุรีลงไปสุดแดนประเทศไทยทางใต้ แก่คณะซาเลเซียน สมาชิกคณะซาเลเซียนได้เดินทางมาถึงบางนกแขวก ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของมิสซังราชบุรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1927 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเณร  มีพระสงฆ์ไม่กี่องค์ ฉะนั้น การตั้งบ้านเณรซาเลเซียนที่บางนกแขวกจึงมีขึ้นโดยปริยาย  ใช้ตึกซึ่งคุณพ่อเปาโล ซัลมอน   ได้สร้างเป็นที่รักษาคนไข้ และที่พักคนชรา เป็นบ้านเณร

         ปี  ค.ศ.1929  พระสงฆ์ของมิสซังกรุงเทพฯ  ได้มอบกิจการงานของวัดต่างๆ  ในมิสซังใหม่ให้แก่คณะซาเลเซียน แล้วกลับไปทำงานในมิสซังกรุงเทพฯ คณะซาเลเซียนซึ่งมีคุณพ่อกายาตาโน   ปาซอตตี เป็นหัวหน้าคณะ และหัวหน้ามิสซังด้วย เป็นผู้ดำเนินงานปกครองต่อไป

(ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์อาสนวิหารแม่พระบังเกิดบางนกแขวก โอกาสฉบับสมโภช 100 ปี)

 

 

สถิติการเยี่ยมชม

00787809
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
Last Week
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
151
74
437
476086
370
1352
787809
Your IP: 3.144.252.203
2025-05-04 10:47