จากบ้านเณรบางช้าง สู่บ้านเณรบางนกแขวก
ปี ค.ศ.1930 คุณพ่อปาซอตตี ซึ่งมีสายตายาวเห็นการณ์ไกล ได้ตั้งบ้านเณรพื้นเมืองประจำมิสซังราชบุรีนั้น แม้ท่านจะยังเป็นนักบวช และเป็นหัวหน้าคณะนักบวชซาเลเซียนอยู่ ก็ยังได้คิดตั้งบ้านเณรพื้นเมืองขึ้น เพื่ออนาคตของมิสซังได้เริ่มด้วยมีเณร 2 คน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ครั้นต่อมา ในวันที่ 20 มีนาคม ได้มีเด็กมาสมัครอีก 6 คน ปีแรกจึงมีเณรทั้งหมด 8 คน ใช้บ้านซึ่งทางวัดได้ซื้อจากสัตบุรุษ อยู่ริมแม่น้ำกลองหน้าวัดบางนกแขวกนั่นเอง เป็นที่พักอาศัย กินอยู่หลับนอน ส่วนการเรียนวิชาต่างๆ ไปเรียนรวมกับนักเรียน ในโรงเรียนของวัดบางนกแขวก โดยมีคุณพ่อยวง กาแซตตา ซึ่งเป็นเจ้าวัดบางนกแขวก เป็นอธิการของบ้านเณรด้วย
ปี ค.ศ.1931 จำนวนเณรได้ทวีขึ้นเป็น 12 คน และในปี ค.ศ.1932 มีเณร 25 คน ปี ค.ศ.1933 มีเณร 36 คน
ปี ค.ศ.1931 คุณพ่อการ์ต็อง อธิการสามเณราลัยบางช้างขอบคุณพระเป็นเจ้า ที่เหตุการณ์ปีนี้ผ่านพ้นไปอย่างสงบเรียบร้อย หลักสูตรการเรียนที่พระคุณเจ้าได้อนุมัติเห็นชอบ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1928 นั้น เหมาะสมกับกำลังและสติปัญญาของเณรเรา ปีนี้ได้ส่งเณรไทยคนที่ 4 ไปเรียนที่กรุงโรม และมีเณร 11 คน เรียนอยู่ที่ปีนัง
ปี ค.ศ.1934 วันที่ 1 เมษายน พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ประกาศแต่งตั้งบุญราศี ยวง บอสโก เป็นนักบุญ วันที่ 24 พฤษภาคม พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ประกาศแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นพระสังฆรักษ์ ปกครองมิสซังราชบุรีโดยเต็มอำนาจ วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1934 ได้มีงานฉลองมโหฬาร ฉลองนักบุญยวง บอสโก พระสังฆรักษ์ ปาซอตตี เข้ารับตำแหน่ง ด้วยการถวายบูชามิสซาอย่างสง่า และมีพิธีสวมเสื้อหล่อให้แก่เณร 8 รูป ซึ่งมาจากบ้านเณรประจำมิสซังราชบุรี ที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1930 เณรทั้งหมดนี้ได้เข้าอยู่ในคณะซาเลเซียน และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ 2 องค์ คือ คุณพ่อสนิท ลุลิตานนท์ และคุณพ่อสนม วีระกานนท์
วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1934 ทางบ้านเณรบางนกแขวก ได้จัดให้มีการฉลองแม่พระนิรมลอย่างสง่ามโหฬาร และได้เชิญเณรซึ่งอยู่ที่บ้านเณรบางช้าง ซึ่งเป็นเณรของมิสซังกรุงเทพฯ มาร่วมฉลองด้วยและเป็นการอำลาจากมิสซังราชบุรี ไปตั้งบ้านเณรใหม่ที่ศรีราชา
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934 อันตรงกับวันคริสตมาส คือ วันดีเดย์ เวลาประมาณ 07.00 น. เรือ คิว, เค 18 ถอนสมอ เรือแม็กคิงตอชลากจูง ระฆังวัดคาทอลิกบางนกแขวกเริ่มส่งเสียงกังวาน วงดุริยางค์ของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บรรเลงเพลงไพเราะ พระสงฆ์และสัตบุรุษเป็นจำนวนมากออกมายืนที่ท่าน้ำ โบกมืออำลาพวกเราซึ่งประกอบด้วย คุณพ่อมอริส การ์ตอง อธิการ คุณพ่อโรเชอโร อาจารย์ ครู เณร 2 คน คือ คุณครูเศียร โชติพงศ์ กับคุณครูกิมฮั้ง แซ่เล้า ภคินี 3 คน คือ ฟีโลแมน โรซารี และกอแลตตา กับแม่ครัวอีกคนหนึ่ง เณรใหญ่เล็ก 82 รวม 90 ชีวิต ไม่นับกัปตันและลูกเรือโบกมือตอบด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี คุณพ่ออธิการและอีกหลายๆ คน น้ำตาคลอเพราะสถาบันที่มีอายุถึง 62 ปี กำลังถูกปล่อยให้เป็นอดีต พูดอีกนัยก็คือ กำลังจะทิ้งประวัติอันยาวนานไว้ข้างหลัง เรากำลังฝากอนาคตไว้กับเรือสองลำ ที่จะผ่านคลื่นลม นำเราไปสู่จุดหมายปลายทางใหม่ คณะของเราเดินทางจากทิศตะวันตกผ่านอ่าวไทยไปอำเภอศรีราชา ทางทิศตะวันออก เราถึงอำเภอศรีราชาพลบค่ำพอดี
คุณพ่อลออ สังขรัตน์ ได้กล่าวถึงชีวิตในบ้านเณรบางช้างว่า เป็นชีวิตที่สงบเรียบง่าย ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม เอื้ออำนวยต่อการอบรมเณรพระสงฆ์ในอนาคตเป็นอย่างดี หน้าตึกเณรมีแม่น้ำแม่กลอง ทุกเย็นเณรอาบน้ำ ซักเสื้อผ้า แหวกว่ายในสายน้ำใสสะอาดอย่างสนุกสนาน ด้านหลังเป็นสวนมะพร้าว เจ้าของสวนเป็นคาทอลิกบางคนใจดี ให้เณรเก็บมะพร้าวมาให้โรงครัวของบ้านเณรทำอาหาร ซิสเตอร์คณะพระหฤทัยคลองเตยมีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงเณร การศึกษาของเณรสมัยนั้นเน้นหนักเรื่องภาษาลาตินและฝรั่งเศส ภาษาลาตินจำเป็นเพราะที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง ใช้ภาษาลาตินเป็นภาษากลาง เนื่องจากมีเณรหลายชาติ อาจารย์สอนใช้ภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส มีประโยชน์เพราะหนังสือบำรุงความศรัทธา คู่มีการเทศน์เป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1935 บรรดาเณรซาเลเซียน ซึ่งเคยตั้งสำนักที่อยู่ที่บางนกแขวก ได้อพยพข้ามลำน้ำแม่กลองมาอยู่บ้านเณรเก่าของมิสซังกรุงเทพฯ เรียกว่า บ้านเณรบางนกแขวก ไม่เรียกว่า บ้านเณรบางช้างแล้ว
ในปี ค.ศ.1936 คุณพ่อยวง กาแซตตา ซึ่งเป็นพ่อเจ้าวัดบางนกแขวก และเป็นอธิการบ้านเณรพื้นเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 ได้ออกจากหน้าที่อธิการบ้านเณร มอบให้คุณพ่อบาร์เบโร เป็นอธิการบ้านเณรแทนต่อไป เณรพื้นเมืองได้เข้าไปอยู่ในบ้าน ซึ่งเณรซาเลเซียนเคยอยู่ก่อน คือ อาคารที่คุณพ่อเปาโลซัลมอน ได้สร้างเป็นที่รักษาคนไข้ และเป็นบ้านพักคนชราในสมัยโน้น จำนวนเณรได้ทวีขึ้นทุกปี จนถึง 60 คนในบางปี
ปี ค.ศ.1941 มรสุมแห่งความยุ่งยากได้เกิดทั่วประเทศไทย เนื่องจากเรื่องกรณีพิพาทอินโดจีน เกี่ยวพันไปถึงเรื่องศาสนาด้วย มีการกีดกันการปฏิบัติศาสนาคาทอลิก วัดหลายแห่งโดนปิด บ้านเณรที่ศรีราชาและที่ภาคอีสานโดนกลั่นแกล้งจนเณรอยู่ไม่ได้ ต้องปิดแบบอัตโนมัติ สงฆ์ฝรั่งเศสโดนกักกัน ออกทำงานไม่ได้ สังฆรักษ์ปาซอตตี ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ อย่างเงียบๆ และเป็นผู้ดูแลศาสนาทั่วประเทศไทย ในฐานะที่ท่านเป็นชาวอิตาเลียน มิใช่ฝรั่งเศส ท่านได้รวบรวมเณรที่พอจะพบได้จากบ้านเณรกรุงเทพฯ และภาคอีสาน ไปรวมกันที่บ้านเณรบางนกแขวก
เนื่องจากมรสุม ข้อพิพาทอินโดจีน เณรต่างด้าวต้องอพยพไปเรียนกันที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พระสังฆราชปาซอตตีได้บูรณะบ้านเณร ที่เณรซาเลเซียนเคยอยู่ให้ดีขึ้นด้วยการปรับปรุงพื้นให้สูงขึ้น ทำประตู หน้าต่างใหม่ ซ่อมกำแพง อาคาร ทาสีใหม่ให้น่าอยู่ เณรพื้นเมืองของมิสซังราชบุรี เณรของมิสซังกรุงเทพฯ และภาคอีสานไปเรียนกันที่บ้านเณรนี้ มีการสอนเทวศาสตร์ ปรัชญาศาสตร์ และเณรเล็กที่เรียนมัธยมด้วย อยู่รวมกันหมด เพราะไม่สามารถออกไปเรียนต่างประเทศได้ คุณพ่อยอบ การ์นีนี เป็นอธิการบ้านเณร
ปี ค.ศ.1942 สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กันดาร ข้าวปลาอาหารเสื้อผ้า เครื่องใช้ไม้สอยแพง ราคาสูงลิบ พวกเณรต้องประหยัดกันจนตัวลีบ ในด้านอาหารการกินและของใช้ แต่เณรทุกคนก็ยินดีอดทนอยู่กันด้วยความสุข การเล่าเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ต้องอดอยากบ้าง และเณรสมัยนั้นได้เป็นพระสงฆ์จำนวนมากด้วย คงเป็นพระพรของพระ ความลำบากก่อให้เกิดผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ
ปี ค.ศ.1944 ภัยแห่งสงครามยิ่งรุนแรงใหญ่ พวกเณรคิดว่าหนีมาอยู่ในชนบทบางนกแขวก ดงมะพร้าวคงปลอดภัย พวกเณรหลายครั้งต้องหนี หลบลูกระเบิด ซึ่งตกในเมืองราชบุรี ทำลายทางรถไฟ ทำลายสะพานข้ามแม่น้ำ เณรต้องหนี กลัวลูกหลง เป็นต้น เวลากลางคืน และสุดท้ายก็เจอลูกระเบิดเข้าจนได้ ทหารอเมริกันทิ้งลูกระเบิดที่ประตูน้ำบางนกแขวก พวกเณรต้องวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน แต่ทุกคนก็ปลอดภัย
ในปี ค.ศ.1944 นี่เอง พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ได้แต่งตั้งพระสังฆราชไทยองค์แรก คือพระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นประมุขมิสซังจันทบุรี เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย พระสังฆราช พระสงฆ์ต่างด้าวอาจจะทำงานไม่สะดวกในอนาคต วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 เป็นวันประกาศสงบศึกทุกคนต่างยินดี ที่โลกกลับมีสันติสุขอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้รับความระทมทุกข์มาเป็นเวลา 3 ปีกว่า แต่ผลของสงครามก็ยืดเยื้อไปอีกนานปี นั่นคือ ความยากจนอดอยาก กันดารอาหาร ขัดสนเครื่องใช้ ของจำเป็นแก่ชีวิตทุกอย่างโดนภัยสงครามทำลายแทบทั้งสิ้น
ปี ค.ศ.1946 เณรของมิสซังกรุงเทพฯ เดินทางกลับไปเรียนที่บ้านเณรของตนเอง ทางมิสซัง กรุงเทพฯ เริ่มเปิดบ้านเณรของตนใหม่ โดยเอาเณรที่อยู่บางนกแขวกกลับไป และหากระแสเรียกเพิ่มเติม ส่วนเณรของภาคอีสานยังคงเรียนต่อที่บางนกแขวก คุณพ่อซิลวีโอ โปรเวรา รับหน้าที่อธิการบ้านเณร แทนคุณพ่อยอบ การ์นีนี
ปี ค.ศ.1947 เป็นปีแห่งความยินดี อันควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางนกแขวก คือ หลังจากได้ก่อตั้งบ้านเณรประจำสังฆมณฑลราชบุรีมา 17 ปี ก็ได้เก็บผล คือ ได้พระสงฆ์รุ่นแรก ซึ่งเข้ามาเรียนในบ้านเณรนี้ วันที่ 16 มีนาคม พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์แรกของมิสซังราชบุรี 2 องค์ คือ คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ และคุณพ่อซุนเอ็ง ก๊กเครือ พระสังฆราชกายเยตาโน ปาซอตตี คงเป็นผู้มีความชื่นชมยินดีมากกว่าใครหมด เพราะได้เชยชมผลงานที่ท่านได้ลงแรงทำมาตั้งแต่เริ่มงานของมิสซังราชบุรี และผลงานของท่านก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ กล่าวคือ วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1948 ท่านได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ของท่านเป็นรุ่นที่ 2 อีกสามองค์ คือ คุณพ่อสุเมธ วัชรศักดิ์ไพศาล คุณพ่อวิศิษฐ์ สินสมรส คุณพ่อบุญนาค ทองอำไพ วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1949 พระสังฆราชปาซอตตีได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ของท่านเป็นรุ่นที่ 3 คือ คุณพ่อรัตน์ บำรุงตระกูล ซึ่งพระญาณสอดส่องก็ได้จัดการไว้ล่วงหน้าแล้วพระสงฆ์องค์นี้ ต่อมาได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชไทยองค์แรก ประมุขของมิสซังราชบุรีด้วย
วันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1950 เป็นวันแห่งเศร้าโศกสุดซึ้ง สำหรับมิสซังราชบุรีและคริสตทั่วประเทศไทย พระเจ้าได้เรียกพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ออกจากโลกนี้ไปหาพระองค์ อายุ 60 ปี ได้ทำงานในประเทศจีน 9 ปี คุณพ่อเปโตร คาเร็ตโต เจ้าคณะซาเลเซียน ได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชสืบแทนต่อมา ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 หลังจากได้รับการอภิเษกแล้ว วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1951 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่อไกรศรี ทัพศาสตร์ และคุณพ่อชวลิต วินิตกุล เป็นพระสงฆ์รุ่นที่ 4 ของมิสซังราชบุรี ในประเทศไทย 23 ปี รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1941 อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราช 9 ปี
ในปี ค.ศ. 1951 คุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม และต่อมาได้รับแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลอุบลฯ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม และต่อมาในปี ค.ศ.1956 คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์ และคุณพ่อวิโรจน์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม
ใสมัยของพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต โดยคุณพ่อซิลวิโอ โปรเวรา เป็นอธิการบ้านเณรได้ยกระดับบ้านเณรให้เจริญขึ้นในด้านการอบรมจิตใจ การศึกษา พลานามัยของบ้านเณรเป็นอย่างดียิ่ง จัดพิมพ์ตำราเรียนภาษาลาติน ภาษาอังกฤษ ดนตรี การขับร้อง พิมพ์หนังสือภาวนาประจำบ้านเณร พิธีกรรม ฯลฯ คุณภาพของเณรสมัยนั้นเป็นที่เชื่อถือและเป็นนิยมมากในทุกด้าน
วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1957 พระสังฆราชเปโตรคาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่คือ คุณพ่อประเสริฐ นพคุณ ที่วัดพระหฤทัย วัดเพลง โอกาสฉลองวัดนับเป็นพระสงฆ์รุ่นที่ 5 ของมิสซัง
ปี ค.ศ.1959 คณะเณรแห่งมิสซังราชบุรี ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเณรราชบุรี ซึ่งพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ได้วิ่งเต้นหาทุนก่อสร้างบ้านเณรใหม่ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 มาแล้ว การก่อสร้างได้ดำเนินไปตลอดหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จ ต้นปีการศึกษา ค.ศ.1959 พวกเณรได้อพยพ ขนข้าวของทุกอย่างจากบ้านเณรบางนกแขวก ไปอยู่ที่บ้านเณรราชบุรี โดยการนำของคุณพ่ออธิการซิลวีโอ โปรเวรา
(ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์อาสนวิหารแม่พระบังเกิดบางนกแขวก โอกาสฉบับสมโภช 100 ปี)